ก.อุตฯลุยแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ต่อเนื่อง ตั้งเป้าฤดูการผลิตปี65/66 อ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 5 %

กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างต่อเนื่อง พร้อมหนุนมาตรการส่งเสริมตัดอ้อยสด สำหรับในฤดูการผลิตปี 2565/2566 ให้มีปริมาณอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 5% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด สนองนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่น PM 2.5

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 ณ หอประชุมใหญ่สมาคมเพื่อเกษตรกรภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 กรอบวงเงินช่วยเหลือ 8,159 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2565 ได้จ่ายเงินช่วยเหลือไปแล้ว จำนวน 125,194 ราย เป็นเงิน 8,103.74 ล้านบาท โดยการช่วยเหลือเพื่อช่วยลดต้นทุนการตัดอ้อยสดในครั้งนี้ จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น รวมทั้งตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 โดยจะพยายามผลักดันมาตรการขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐตามโครงการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 เช่นเดียวกับฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา

landscape 1215372 960 720
แก้ไขปัญหาไร่อ้อยไฟไหม้

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ดำเนินโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยสำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปี 2565 – 2567 วงเงินให้กู้ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย จัดซื้อรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย รถแทรกเตอร์ รถบรรทุกอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตรอื่น ๆ เพื่อใช้ในไร่อ้อย

“สำหรับแนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2565/2566 คาดการณ์ว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้ราคาอ้อยขั้นต้นในระดับที่ไม่ต่ำกว่าตันละ 1,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยราคาน้ำตาลตลาดโลกด้วย หากราคา (รวมพรีเมี่ยม) อยู่ที่ประมาณ 20.00 เซนต์/ปอนด์ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34 บาท/เหรียญสหรัฐ ทำให้มั่นใจได้ว่าราคาอ้อยขั้นต้นในปีนี้จะมีราคาสูงกว่าตันละ 1,000 บาท อย่างแน่นอน” นายสุริยะ กล่าวปิดท้าย

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ระบุว่า มลพิษจากการเผาอ้อยจะมากหรือน้อยจะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ โดยทั่วไปมลพิษจากการเผาไหม้ ประกอบด้วย ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ สารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยได้ อนุภาคของแข็งขนาดเล็กและฝุ่นละอองซึ่งจะกระจายไปในอากาศทำให้สภาพการมองเห็นลดลง เกิดการระคายต่อจมูกและลำคอแล้วถ้าประสบสภาวะนี้อยู่นาน ๆ จะเป็นผลเสียต่อการหายใจ เมื่อเกิดการเผาไหม้จะเกิดก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการขนถ่ายออกซิเจนของเลือดลดลง นอกจากนี้สารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยได้ ซึ่งมีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ เช่น เบนซิน โทลูอีน เมทิลลีนคลอไรด์ และเมทิลคลอโรฟอร์ม จะมีผลกระทบต่อพืชและมนุษย์อีกด้วย

การเผาอ้อยจะเกิดความร้อนสูงมาก ทำให้เกิดการเผาไหม้อย่างรวดเร็ว และเกิดฝุ่นละอองลอยตัวกระจายในอากาศสูงกว่า 2,250 เมตร และลอยไปได้ไกลถึง 16 กิโลเมตร หรือมากกว่า ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศโดยทั่วไป และก่อให้เกิดความรำคาญแก่ประชาชนในบริเวณดังกล่าว

ในการพิจารณาผลกระทบจากการเผาไร่อ้อยที่มีต่อมลภาวะทางอากาศ จะต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยดังนี้ ปริมาณของอ้อยที่เผา คุณภาพของอากาศในบริเวณนั้น สภาพทางอุตุนิยมวิทยา และอากาศพิษที่ปล่อยจากแหล่งอื่น ๆ ในย่านนั้น เช่น โรงงาน ยานพาหนะ เป็นต้น

ระหว่างการเผาไหม้สารประกอบซิลิก้า (Silica Fiber) ในอ้อย จะถูกปล่อยออกจากลำต้นอ้อย ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งปอดได้

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาจากประชากรในบราซิล พบว่า มีประชากรในเขตการปลูกอ้อยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเรื้อรัง โดยที่ระดับของการป่วยจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและปัจจัยสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น ๆ นอกจากนี้พบว่า เถ้าที่เกิดจากการเผาอ้อยจะเป็นอันตรายต่อสายตาของประชากรที่อาศัยในบริเวณไร่อ้อยด้วย