สศก. พยากรณ์ภาคเหนือตอนล่าง ปี 66 ผลผลิตมันสำปะหลัง รวม 5.93 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5%

นายเกษม ชาติทอง รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) เปิดเผยถึง ผลพยากรณ์การผลิตมันสำปะหลัง ปี 2566 (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี และเพชรบูรณ์ ซึ่งจากข้อมูลพยากรณ์ของ สศก. ณ เดือนตุลาคม 2565 คาดว่า มีเนื้อที่เก็บเกี่ยวทั้ง 5 จังหวัดรวม 1,777,748 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 1,702,994 ไร่ (เพิ่มขึ้น 74,754 ไร่ หรือร้อยละ 4) เนื่องจากปีที่ผ่านมาเกษตรกรขายได้ราคาดี จึงจูงใจให้ขยายเนื้อที่ปลูกทดแทนอ้อยโรงงานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่ามันสำปะหลัง

315115555 436316882007987 3608560346598707663 n
คาดผลผลิตมันสำปะหลังภาคเหนือตอนล่างเพิ่มขึ้น

ด้านผลผลิตทั้ง 5 จังหวัด มีจำนวน 5,930,831 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 5,659,598 ตัน (เพิ่มขึ้น 271,233 ตัน หรือร้อยละ 5) เนื่องจากเนื้อที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นและปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมากกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มันสำปะหลังเจริญเติบโตดี โดยในปี 2566 เกษตรกรได้เริ่มเพาะปลูกมันสำปะหลังเดือนมีนาคม 2565 และจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ช่วงเดือนตุลาคม 2565 ไปจนถึงเดือนกันยายน 2566 ทั้งนี้ ผลผลิตจะออกตลาดมากที่สุดเดือนมกราคม – มีนาคม 2566 คิดเป็นร้อยละ 72 ของผลผลิตทั้งหมด

หากพิจารณาแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า กำแพงเพชร เนื้อที่เก็บเกี่ยว 727,006 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ผลผลิต 2,432,562 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 พิจิตร เนื้อที่เก็บเกี่ยว 17,210 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ผลผลิต 54,797 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 นครสวรรค์ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 501,708 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ผลผลิต 1,615,500 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 อุทัยธานี เนื้อที่เก็บเกี่ยว 225,758 ไร่ ลดลงร้อยละ 6 ผลผลิต 756,741 ตัน ลดลงร้อยละ 6 และเพชรบูรณ์ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 306,066 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ผลผลิต 1,071,231 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมและช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2566 ภาครัฐได้มีมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2565/66 จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2565/66 2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2565/66 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง ปี 2565/66 และ 4) โครงการยกระดับศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง (เครื่องสับมันฯ)

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงเดือนกันยายน – เดือนตุลาคม 2565 ในพื้นที่ของทั้ง 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างยังคงได้รับผลกระทบ ซึ่งคาดว่าในส่วนภาคการเกษตรจะมีผลผลิตได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงสำรวจพื้นที่ความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบต่อไป ทั้งนี้ ฝากไปถึงเกษตรกรทุกท่านในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรคำนึงถึงช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวเพื่อรักษาคุณภาพผลผลิตและท่อนพันธุ์ที่ดีสำหรับปีการผลิตถัดไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระดับราคาที่เกษตรกรจะได้รับหากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตมันสำปะหลัง ปี 2566 ของ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.12 นครสวรรค์ 0 5680 3525 หรืออีเมล์ [email protected]

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มันสำปะหลังที่ปลูกเชิงเกษตรกรรม มีสองชนิด คือ ชนิดหวาน มีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิกต่ำ ไม่มีรสขมและสามารถใช้ทำอาหารได้โดยตรง เช่น พันธุ์ห้านาที, พันธุ์ระยอง 2 ชนิดขม มีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิกสูง ต้องนำไปแปรรูปก่อน เช่น พันธุ์ระยอง 1, 3, 5, 60, 90 พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และ พันธุ์ห้วยบง 60

การเพาะปลูก ใช้กิ่งปักชำระยะเวลาเก็บเกี่ยวประมาณ 1 ปี ถึง 1 ปี 4 เดือนขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ปลูก เป็นพืชที่ทนแล้งได้

ส่วนการนำไปใช้มีหลายรูปแบบ ประกอบอาหารคาวหวานโดยนำส่วนของรากสะสมอาหารที่มีการสะสมของคาร์โบไฮเดรตไปใช้ประกอบอาหาร ,แปรรูปเป็นสารปรุงแต่งรสอาหาร ,อาหารสัตว์ ,อุตสาหกรรมกาว ,พลังงานเอทานอล,ส่งออกในรูปแบบมันสำปะหลังอัดเม็ด มันเส้น สาคู แป้งมันสำปะหลัง