มกอช.เดินหน้าส่งเสริมการผลิตพืชสมุนไพรให้ได้มาตรฐานสร้างองค์ความรู้เกษตรกร-จนท. ต่อยอดโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพร ภายใต้แผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2565 โดยได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์ในการบรรลุตามเป้าหมาย 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

1) การส่งเสริมผลิตผลสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตรงความต้องการของตลาด

2) การพัฒนาอุตสาหกรรมและตลาดสมุนไพรให้มีคุณภาพระดับสากล

3) การส่งเสริมการใช้เพื่อการรักษาโรค เสริมสร้างสุขภาพ

และ 4) การสร้างความเข็มแข็งด้านการบริหารและนโยบายภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนสมุนไพรอย่างยั่งยืน โดยได้มอบหมายให้ มกอช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาพืชสมุนไพรไทยให้มีศักยภาพและรองรับตลาดผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น

651100002410
พืชสมุนไพร

ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา มกอช. ได้ส่งเสริมการผลิตพืชสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ โดยขับเคลื่อนผ่านโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร (Herbal city) ซึ่งได้ดำเนินโครงการส่งเสริมและยกระดับการผลิตสมุนไพรต้นแบบตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ในพื้นที่จังหวัดชัยนาทและโครงการพัฒนาต้นแบบการผลิต สมุนไพรอินทรีย์ในพื้นที่เมืองสมุนไพร จังหวัดอำนาจเจริญ โดยการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร เรื่อง มาตรฐาน GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สำหรับพืชสมุนไพร เพื่อสร้างองค์ความรู้และยกระดับระบบการผลิตวัตถุดิบสมุนไพรให้มีคุณภาพ ปลอดภัย และสอดคล้องกับมาตรฐาน โดยมีเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกรที่เข้ารับการอบรม รวมจำนวน 160 ราย

สำหรับในปีงบประมาณ 2566 มกอช. ได้มีแผนการส่งเสริมและยกระดับการผลิตพืชสมุนไพรให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยต่อยอดโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร (Herbal city) ผ่านโครงการส่งเสริมและยกระดับการผลิตพืชสมุนไพรเศรษฐกิจในพื้นที่เมืองสมุนไพร โดยการอบรมให้ความรู้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพรในพื้นที่แปลงใหญ่ จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งจังหวัดอุทัยธานีเป็นแหล่งของพืชสมุนไพรตามธรรมชาติที่เป็นที่ต้องการของตลาดสมุนไพร และมีโรงพยาบาลที่เป็นแหล่งรับวัตถุดิบสมุนไพรจากกลุ่มผู้ปลูกเพื่อนำมาแปรรูปและผลิตยาสมุนไพรที่มีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐาน GMP

นอกจากนี้ยังได้จัดทำโครงการพัฒนาที่ปรึกษาเกษตรกรด้านมาตรฐานพืชสมุนไพรเศรษฐกิจ (กัญชา) ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยการอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในเรื่องมาตรฐาน GAP การปลูก การดูแล การขออนุญาต และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนโครงการยกระดับและพัฒนาศักยภาพการผลิต การตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน GAP/เกษตรอินทรีย์ สำหรับพืชสมุนไพรในเขต ส.ป.ก.

“มกอช. ได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร ซึ่งครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตพืชสมุนไพรทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตในแปลงปลูกถึงการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้วัตถุดิบพืชสมุนไพรที่มีคุณภาพและปลอดภัย เหมาะสมสำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร และได้ส่งเสริมการนำมาตรฐานไปปฏิบัติใช้ ซึ่งเมื่อเกษตรกร /กลุ่มเกษตรกร มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานได้ ก็จะมีความพร้อมในการขอรับการรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พืชสมุนไพร และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น” เลขาธิการ มกอช.กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเทศไทยมีภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชสมุนไพรมีอยู่มากมายเป็นแสน ๆ ชนิด ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและจากการปลูก บางชนิดก็ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาแผนปัจจุบัน สมุนไพรหลายชนิดถูกนำมาใช้ในรูปของยาแผนโบราณ รากฐานของวิชาสมุนไพรรับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดียเป็นส่วนใหญ่เพราะประวัติศาสตร์ไทยได้อพยพถิ่นฐานมาจากบริเวณเทือกเขาอัลไตน์ประเทศจีนมาถึงประเทศไทยในปัจจุบัน จึงมีส่วนได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมประเพณีศาสนา ตลอดจนการบำบัดรักษาจากประเทศอินเดีย