ข้าวไทยปี 66 เน้นรูปแบบรัฐหนุนเอกชนนำ-กระชับสัมพันธ์คู่ค้า

กรมการค้าต่างประเทศประชาสัมพันธ์ข้าวไทยปี 66 ในรูปแบบรัฐหนุนเอกชนนำ เตรียมเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์คู่ค้ากับฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อิรัก และญี่ปุ่น

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปี 2566 กรมฯ ได้จัดทำแผนประชาสัมพันธ์ตลาดข้าวตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่กำหนดรูปแบบรัฐหนุนเอกชนนำ โดยจะร่วมมือกับผู้ส่งออกข้าวจัดกิจกรรมส่งเสริมตลาดข้าวไทย เพื่อรักษาและขยายตลาดในกลุ่มลูกค้าเดิมและแสวงหากลุ่มลูกค้าใหม่ มีกิจกรรมที่จะดำเนินการทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ เช่น การกระชับความสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นกับคู่ค้าสำคัญอย่างต่อเนื่องผ่านระบบการประชุมทางไกลกับฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อิรัก และญี่ปุ่น เป็นต้น

1273216
ข้าวไทย

ทั้งนี้ กรมฯ มีแผนที่จะเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติทั้งในประเทศ เพื่อแนะนำข้าวไทย ได้แก่ Thaifex Anuga ASIA 2023 และต่างประเทศได้แก่ งาน Summer Fancy Food Show ณ สหรัฐฯ งาน GULFFOOD 2023 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ งาน FOOFEX 2023 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น งาน China–ASEAN Expo ครั้งที่ 20 (CAEXPO) 2023 ณ นครหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน และงาน Fine Food 2023 ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น

สำหรับตลาดส่งออกข้าวในปี 2566 กรมฯ จะมุ่งเน้นการทำตลาดไปที่ตลาดทางกลุ่มลูกค้าหลัก เช่น จีน แอฟริกาใต้ สหรัฐฯ และเบนิน รวมทั้งกลุ่มลูกค้าเดิมที่หันกลับมาสั่งซื้อข้าวไทย เช่น อิรัก เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนจะจัดการประชุมข้าวนานาชาติ Thailand Rice Convention 2023 ซึ่งเป็นการประชุมที่ยิ่งใหญ่และสำคัญสำหรับผู้ที่อยู่ในวงการค้าข้าวโลกที่เดินทางมาเข้าประชุมสัมมนาวิชาการ โดยมั่นใจว่าจะช่วยสร้างความร่วมมือด้านการค้า และเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ส่งออกข้าวและผู้นำเข้าข้าวจากทั่วโลก

นายรณรงค์ กล่าวว่า ปี 2565 ถือว่าสถานการณ์การส่งออกข้าวฟื้นตัวจากปีที่ผ่านมาอย่างมาก เห็นได้จากตัวเลขข้อมูลกรมศุลกากรและใบอนุญาตส่งออกข้าว ในช่วงวันที่ 1 ม.ค.–2 พ.ย.2565 ไทยส่งออกข้าวแล้วปริมาณ 6.17 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 30.83% มูลค่าการส่งออก 109,299 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.15%

โดยการส่งออกข้าวไทยได้รับปัจจัยบวกด้านต่าง ๆ เช่น ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงตามทิศทางของเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ทำให้ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ ประกอบกับประเทศในตะวันออกกลางอย่าง อิรัก จอร์แดน โอมาน และอิหร่าน หันมานำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในช่วงปลายปีถือเป็นโอกาสทองของการส่งออกที่จะมีคำสั่งซื้อเข้ามามาก เพื่อสำรองใช้ข้าวสำหรับเทศกาลในช่วงปลายปี ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกข้าวไทยในปีนี้ทะลุเป้า 7.5 ล้านตัน และสถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อทิศทางการส่งออกของข้าวไทยในปีหน้าด้วย

ก่อนหน้านี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยและสถานการณ์ข้าวไทย ณ เดือน ส.ค. 65 โดยคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ได้รายงานปริมาณการส่งออกข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ (อ้างอิงข้อมูลจากกรมศุลกากรและใบอนุญาตส่งออกข้าว) ว่า ในปี 2565 (ม.ค.- ส.ค.) อินเดียส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 11.23 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ ไทย 4.75 ล้านตัน เวียดนาม 4.25 ล้านตัน ปากีสถาน 2.47 ล้านตัน และสหรัฐฯ 1.49 ล้านตันตามลำดับ

และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 64 (ม.ค.-ส.ค.) ในปี 65 ไทยมีปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นจาก 3.10 ล้านตัน เป็น 4.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.23 โดยมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทที่อยู่ในระดับอ่อนค่า เมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ มีราคาใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ เช่น เวียดนาม เมียนมา

รวมถึงการส่งออกข้าวของไทยไปยังกลุ่มประเทศผู้นำเข้าในภูมิภาคตะวันออกกลางโดยเฉพาะอิรักยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ การส่งออกข้าวไทยในช่วงที่ผ่านมานั้น เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้มีการนำเข้าข้าวไทยไปใช้ทดแทนข้าวสาลีและข้าวโพดในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับการส่งออกข้าวของไทย ถ้าจำแนกตามชนิดข้าว ในช่วง ม.ค.-ก.ค. 65 ไทยมีปริมาณการส่งออกข้าวรวม 4.09 ล้านตัน

ข้าวขาว เป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 1.93 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.19 ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด

รองลงมา ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวนึ่ง ข้าวหอมไทย ข้าวหอมไทย ข้าวเหนียว ข้าวกล้อง ตามลำดับ