กยท.ประกาศแก้ไขระเบียบ/หลักเกณฑ์การขอรับเงินอุดหนุน/เงินกู้ หวังพัฒนาเกษตรกร-สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง สู่ผู้ประกอบการ

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการยางแห่งประเทศมีมติแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการยางแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนายางพาราเพื่อการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ตามมาตรา 49 (3) (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2565 เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สอดรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสภาวะปัจจุบัน ทำให้เกิดความเหมาะสม ชัดเจน มีความเสมอภาค เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ประเด็นที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม อาทิ กำหนดเอกสารจำเป็นและเกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประกอบโครงการที่ขอรับเงินอุดหนุนหรือเงินกู้ ซึ่ง กยท. ได้จัดทำแบบสรุปให้ง่ายต่อการตรวจเช็กเอกสาร

%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2
การยางฯแก้ระเบียบขอรับเงินอุดหนุน/ เงินกู้ ยกระดับชาวสวนยาง

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้เกษตรกรฯและสถาบันเกษตรกรฯ มีส่วนร่วมตามหลักเกณฑ์การลงทุน เพื่อให้ตระหนักถึงความคุ้มค่าในการเป็นเจ้าของกิจการ ด้วยการร่วมออกเงินสมทบตั้งแต่ร้อยละ 3 – 20 ของเงินทั้งโครงการ มีการกำหนดสัดส่วนการสมทบตามความเหมาะสม เป็นธรรม ตามขนาดของโครงการที่ขอรับการอุดหนุน ซึ่งหากไม่ต้องการดำเนินการตามเงื่อนไขนี้ สามารถเสนอผู้ว่าการ หรือคณะกรรมการใช้ดุลพินิจพิจารณาแล้วแต่กรณีได้และภายใต้กรอบงบประมาณประจำปีที่มีจำกัด ทำให้ต้องให้มีการเว้นระยะเวลาขอรับเงินอุดหนุนของเกษตรกรฯ และสถาบันเกษตรกรฯ เพื่อให้มีการกระจายการช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ยังมีรายการพัสดุ ครุภัณฑ์ที่ใช้ภายในสำนักงาน เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ สิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารสำนักงาน อาคารห้องประชุม รั้ว ห้องน้ำ ฯลฯ หรืออื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามแผนการ/โครงการ ไม่สามารถขอรับเงินอุดหนุนได้เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการ พ.ศ.2553 เช่นกัน

“อย่างไรก็ดี ก่อนที่ กยท.จะประกาศใช้ระเบียบฉบับปรับปรุงนี้ ต้องผ่านการพิจารณาดำเนินการแก้ไขทบทวนความเหมาะสมมาแล้วหลายขั้นตอน เมื่อประกาศใช้ 21 กันยายน 2565 พบว่ายังมีเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางบางรายอาจจะยังไม่เข้าใจ จึงได้มอบหมายให้ กยท.ทั้ง 7 เขต ได้แก่ เขตภาคใต้ตอนล่าง ภาคใต้ตอนกลาง ภาคใต้ตอนบน ภาคกลางและภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคเหนือ เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจผ่านนักวิชาการเกษตรของ กยท.ในพื้นที่แล้ว รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลประกาศผ่านเว็บไซต์ กยท. www.raot.co.th และหากเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรฯและผู้ประกอบกิจการยาง รายใด มีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลได้ทุกช่องทาง” ผู้ว่าการ กยท.กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยมีมติเห็นชอบ นำเรื่อง แบบและวิธีการขอรับเงินกองทุนพัฒนายางพารา ตาม พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 49(3) 49(5) และ49(6) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ.2560

ต่อมามีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวมทั้งสิ้น 3 มาตรา คือ ตามมาตรา 49(3) เพื่อการส่งเสริม สนับสุนน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยาง มีวัตถุประสงค์การให้กู้ยืมเงิน เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางกู้ยืม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับประกอบอาชีพการทำสวนยางในด้านการปรับปรุงคุณภาพการผลผลิต การผลิต การแปรรูป และให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยางกู้ยืมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับปรับปรุงคุณภาพผลผลิต การผลิต การแปรรูป การตลาด และอุตสาหกรรมแปรรูปยางขั้นต้น อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมไม้ยาง และการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องกับยางพารา รวมถึงการรวบรวมผลผลิต ตามมาตรา 49(5) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง จะต้องตรงตามหลักเกณฑ์คุณสมบัติการขอรับความช่วยเหลือของเกษตรกรชาวสวนยางกรณีสวนยางประสบภัย จะต้องเป็นเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่สวนยางประสบภัยจนเสียสภาพสวนยาง ที่ดินสวนยางที่ประสบภัย ต้องมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย เกษตรกรที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือจะต้องแจ้งขอรับความช่วยเหลือต่อพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติภายใน 15 วันนับจากวันที่ประสบภัยหรือนับจากวันที่เหตุพิบัติภัยนั้นได้สิ้นสุดลงแล้วแต่กรณี

และตามมาตรา 49(6) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมีวัตถุประสงค์การให้เงินกองทุนพัฒนายางพาราเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมเกษตรกรชาวสวนยางซึ่งประสงค์จะรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมเชื่อมโยงสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางให้เป็นเครือข่ายในการดำเนินกิจกรรมหรือธุรกิจของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมเครือข่าย รางวัลสร้างแรงจูงใจให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีการพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน เงินเพื่อส่งเสริมสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ตามโครงการที่คณะกรรมการกำหนด