วช.ดันผลงานวิจัย “จิงจูฉ่าย” สุดยอดผักสมุนไพรเพื่อสุขภาพ พืชเกษตรที่กำลังได้รับความนิยมจากทั้งเกษตรกรผู้ปลูกและผู้บริโภค

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการวิจัยฯ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานในโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังก์ชั่นจากจิงจูฉ่ายสำหรับผู้สูงอายุ

โดย ผศ.ดร.ทานตะวัน พิรักษ์ หัวหน้าโครงการวิจัยอาจารย์ประจำสาขา ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะทีมนักวิจัย พร้อมด้วยความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชน นางสาวศิริวิมล กิตะพาณิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซฟ ไลฟ์ โปรดักส์ จำกัด (ไร่รื่นรมย์) ในการพัฒนาผักจิงจูฉ่ายต่อยอดทางธุรกิจในเชิงพาณิชย์ ณ ไร่รื่นรมย์ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกเกษตรอินทรีย์ผสมผสานกับการท่องเที่ยวรวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชผักออร์แกนิค

316962882 460537266267711 8744775259183796474 n
จิงจูฉ่าย

ผศ.ดร.ทานตะวัน พิรักษ์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังก์ชั่นจากจิงจูฉ่ายสำหรับผู้สูงอายุในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังก์ชันสำหรับผู้สูงอายุ โดยคัดเลือกส่วนผสมสำคัญคือ จิงจูฉ่าย (Artemisia Lactiflora) ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านที่รับประทานกันมาอย่างยาวนาน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีวิตามินซีสูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ออกฤทธิ์ได้ดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยได้ออกแบบให้ผลิตภัณฑ์อยู่ใน 2 รูปแบบได้แก่ เครื่องดื่มจิงจูฉ่ายผสมน้ำผักและผลไม้และเครื่องดื่มจิงจูฉ่ายลาเต้ที่มีรสชาติดื่มง่าย ให้พลังงานต่ำ เหมาะเป็นเครื่องดื่มในมื้ออาหารว่างในระหว่างมื้อสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้รักสุขภาพ

โดยการศึกษาและวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 เป็นการมุ่งเน้นการศึกษาพัฒนาสูตรและวิธีการผลิตของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังก์ชันจากจิงจูฉ่ายเพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ขั้นตอนที่ 2 เป็นการศึกษาข้อมูลทางการตลาดเบื้องต้นสำหรับนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจที่สามารถใช้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังก์ชันจากจิงจูฉ่ายสำหรับใช้ในการจำหน่ายจริงในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม การศึกษาต้นทุนของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำผลไม้ผสมจิงจูฉ่าย และผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจิงจูฉ่ายลาเต้ มีความเป็นไปได้ทางการตลาดและธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้สามารถผลิตได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบตลาดและวางแผนการผลิตต่อไป

นางสาวศิริวิมล กิตะพาณิชย์ ผู้ประกอบการ ได้กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังก์ชั่นจากจิงจูฉ่ายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีเหมาะสำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มผู้รักสุขภาพ ซึ่งทางไร่รื่นรมย์ได้มีการจัดการควบคุมวัตถุดิบจิงจูฉ่าย ให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดี ได้องค์ความรู้จากงานวิจัยในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณประโยชน์ มีรสชาติที่หอมอร่อยดีต่อสุขภาพ มีการนำมาทดสอบกับผู้บริโภคแล้ว ได้รับผลตอบรับที่ดี ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นการช่วยผู้ประกอบการให้สามารถพัฒนาสินค้าและสร้างความแตกต่างและความโดดเด่นของสินค้าที่ตรงต่อกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย ซึ่งเป็นการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าทางเลือกและเพิ่มมูลค่าของผักจิงจูฉ่ายของทางไร่ได้เป็นอย่างดี และหากท่านใดสนใจ สามารถสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ สินค้าผ่านช่องทาง Line : @rairuenrom และ ผ่านช่องทางเพจ facebook : ไร่รื่นรมย์ เกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยวออร์แกนิค Rai Ruen Rom Orgaic Farm

ทั้งนี้ กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ นำคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมแปลงปลูกผักจิงจูฉ่าย โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจิงจูฉ่ายผสมน้ำผักและผลไม้ เครื่องดื่มจิงจูฉ่ายลาเต้ และไอศกรีมจิงจูฉ่าย

จะเห็นได้ว่า “จิงจูฉ่าย” พืชเกษตรที่กำลังได้รับความนิยมจากทั้งเกษตรกรผู้ปลูก ผู้บริโภค และยังตอบโจทย์คนรักสุขภาพ ซึ่งโครงการวิจัยนี้จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จิงจูฉ่าย มีชื่อภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการว่า Artemisia lactiflora ส่วนชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Apium graveolens L. เป็นที่นิยมมากของชาวจีน โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่มณฑลกุ้ยโจว  ลักษณะต้นจิงจูฉ่าย จะเป็นกอ คล้ายใบบัวบก ใบเป็นรูปรี ขอบเป็นแฉกสีเขียว 5 แฉก เนื้อใบหนา เหง้า มีขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ง่าย ๆ ด้วยเมล็ด เจริญงอกงามได้ดีในที่ที่มีแสงแดดรำไร ชื้น ดินโปร่งแต่ไม่แฉะ ชอบอากาศเย็นมากกว่าอากาศร้อน เกษตรกร นิยมปลูกจิงจูฉ่ายกันพอสมควร เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ให้กำไรได้ดีเลยทีเดียว ต่างประเทศจะเรียกผักชนิดนี้ว่า White mugwort หรือ Celery เพราะลักษณะจิงจูฉ่าย จะคล้าย ๆ ขึ้นฉ่ายฝรั่ง แต่ต้นเล็กกว่า ใบจะสีเข้มกว่ามาก และจิงจูฉ่ายมีกลิ่นหอมคล้าย ๆ ตั้งโอ๋ จากน้ำมันหอมระเหย ที่มีอยู่ในลำต้นนั่นเอง