คณะผู้นำเข้าข้าวฮ่องกงเยือนไทย ปิดดีลซื้อขายข้าวหอมมะลิกว่า 2,700 ล้านบาท

“พาณิชย์”เผยคณะผู้นำเข้าข้าวฮ่องกง 34 ราย เดินทางเจรจาการค้าในไทย ตกลงซื้อขายข้าวหอมมะลิไทยเบื้องต้น 81,200 ตัน มูลค่ากว่า 2,700 ล้านบาท ระบุยังสนใจนำเข้าข้าวเพื่อสุขภาพ ทั้งข้าว กข.43 และข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่เติบโตตามเทรนด์การรักสุขภาพ

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญคณะผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ฮ่องกงจำนวน 34 ราย นำโดย Mr.Kenneth Chan นายกสมาคมพ่อค้าข้าวฮ่องกง เดินทางเจรจาการค้าในประเทศไทยในช่วงวันที่ 21-24 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา และได้ใช้โอกาสนี้ ส่งเสริมการขายข้าวหอมมะลิไทย และสร้างการรับรู้ตราสัญลักษณ์ข้าวหอมมะลิไทยสีเขียว(Thai Hom Mali Rice Certification Mark) เพื่อสร้างการรับรู้และความเชื่อมั่นต่อชาวฮ่องกงว่าตราสัญลักษณ์ข้าวไทยบนบรรจุภัณฑ์แสดงว่าข้าวได้รับการบรรจุในประเทศไทย และสามารถมั่นใจได้ถึงคุณภาพมาตรฐานระดับสูง

1510990481 1.png 530x350 1
ข้าวหอมมะลิไทย

ทั้งนี้ ผลการเดินทางมากระชับความสัมพันธ์และเจรจาการค้ากับผู้ส่งออกข้าวไทย เบื้องต้นมีปริมาณการซื้อขายครั้งนี้ 81,200 ตัน มูลค่ากว่า 2,700 ล้านบาท ซึ่งผู้นำเข้าฮ่องกงจะนำเข้าเพื่อรองรับความต้องการบริโภคข้าวของชาวฮ่องกงในปี 2566

นางชณันภัสร์ พิศาลอภิพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง กล่าวว่า รัฐบาลฮ่องกงได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และเปิดให้มีการเดินทางเข้า-ออกฮ่องกงได้สะดวกขึ้น สำนักงานฯ จึงได้ประสานกับสมาคมพ่อค้าข้าวฮ่องกงให้เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อกระชับความสัมพันธ์และเจรจาธุรกิจซื้อขายข้าวกับผู้ส่งออกไทย โดยได้พบปะหารือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและผู้ส่งออกไทย ถึงข้อมูลการค้าและสถานการณ์การค้าข้าวระหว่างกัน โดยคาดว่าสถานการณ์การค้าข้าวในปี 2566 ระหว่างไทย-ฮ่องกง จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะฮ่องกงได้เปิดให้มีนักท่องเที่ยวและการบริโภคจะกลับมาสู่ภาวะก่อนเกิดโควิด-19

สำหรับฮ่องกง เป็นตลาดส่งออกข้าวที่มีศักยภาพของไทย เป็นตลาดใหญ่ที่สุดลำดับที่ 5 ในปี 2564 มีปริมาณการส่งออก 174,932 ตัน คิดเป็นมูลค่า 158.04 ล้านเหรียญสหรัฐ และชาวฮ่องกงนิยมบริโภคข้าวหอมมะลิใหม่ คิดเป็น 80% และมีอัตราการบริโภคข้าวเฉลี่ย 44 กิโลกรัมต่อคนต่อปี โดยฮ่องกงนำเข้าข้าวหอมมะลิมากที่สุดจากไทยเป็นลำดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเลือกซื้อข้าว คือ ชนิด คุณภาพ และรสชาติ

น.ส.สิริบุษย์ อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการกองบริหารการค้าข้าว กรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ได้นำคณะผู้นำเข้าข้าวฮ่องกงเยี่ยมชมศึกษาดูงานด้านการผลิตและแปรรูปข้าวในจังหวัดอยุธยา รวมทั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานข้าวไทย ซึ่งผู้นำเข้าข้าวฮ่องกงได้แสดงความสนใจข้าวเพื่อสุขภาพอย่างมาก โดยเฉพาะข้าว กข 43 (RD 43) ซึ่งเป็นข้าวขาวที่มีความนุ่ม มีค่าดัชนีน้ำตาลในระดับปานกลาง-ต่ำ และข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการดูแลสุขภาพ โดยผู้นำเข้าแจ้งว่าตลาดข้าวเพื่อสุขภาพมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเทรนด์การรักษาสุขภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ได้รายงานปริมาณการส่งออกข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ (อ้างอิงข้อมูลจากกรมศุลกากรและใบอนุญาตส่งออกข้าว) ว่า ในปี 2565 (ม.ค.- ส.ค.) อินเดียส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 11.23 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ ไทย 4.75 ล้านตัน เวียดนาม 4.25 ล้านตัน ปากีสถาน 2.47 ล้านตัน และสหรัฐฯ 1.49 ล้านตันตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 64 (ม.ค.-ส.ค.) ในปี 65 ไทย มีปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น จาก 3.10 ล้านตัน เป็น 4.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.23 โดยมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทที่อยู่ในระดับอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ มีราคาใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ เช่น เวียดนาม เมียนมา ผู้นำเข้าข้าวจึงให้ความสนใจนำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้น อีกทั้งการส่งออกข้าวของไทยไปยังกลุ่มประเทศผู้นำเข้าในภูมิภาคตะวันออกกลางโดยเฉพาะอิรัก ยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ การส่งออกข้าวไทยในช่วงที่ผ่านมานั้น เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้มีการนำเข้าข้าวไทยไปใช้ทดแทนข้าวสาลีและข้าวโพดในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นด้วย

การส่งออกข้าวของไทยจำแนกตามชนิดข้าว ในช่วง ม.ค.-ก.ค. 65 ไทยมีปริมาณการส่งออกข้าวรวม 4.09 ล้านตัน โดยส่งออกข้าวขาวเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 1.93 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.19 ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมาได้แก่ข้าวหอมมะลิไทย 0.98 ล้านตัน (23.96%) ข้าวนึ่ง 0.70 ล้านตัน (17.11%) ข้าวหอมไทย 0.28 ล้านตัน (6.85%) ข้าวเหนียว 0.16 ล้านตัน (3.91%) และข้าวกล้อง 0.03 ล้านตัน (0.73%) ตามลำดับ

โดยประเทศที่นำเข้าข้าวที่สำคัญ ‘ข้าวขาว’ ได้แก่ อิรัก จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ โมซัมบิก อังโกลา มาเลเซีย แคเมอรูน สหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนประเภท ‘ข้าวหอมมะลิไทย’ ได้แก่ สหรัฐ เซเนกัล ฮ่องกง จีน แคนาดา สิงคโปร์ โกตดิวัวร์ เยเมน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส ส่วนตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยแบ่งตามภูมิภาค ปี 2565 (ม.ค.-ก.ค.) อันดับหนึ่ง คือ ภูมิภาคแอฟริกา คิดเป็นสัดส่วน 29.83% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ตะวันออกกลาง 26.89% เอเชีย 23.23% อเมริกา 12.96% ยุโรป 4.40% และโอเชียเนีย 2.69% ตามลำดับ