พาณิชย์ คุมเข้มนำเข้ามะพร้าวภายใต้ AFTA และ WTO ป้องกันผลกระทบเกษตรกร

กรมการค้าต่างประเทศกางแผนดูแลการนำเข้ามะพร้าวภายใต้กรอบ AFTA และ WTO ปี 66 ยันจะเดินหน้าคุมเข้ม การนำเข้าต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ป้องกันผลกระทบต่อเกษตรกร เผยกรอบ AFTA ห้ามจำหน่าย จ่าย โอน ภายในประเทศ และห้ามนำไปจ้างกะเทาะนอกโรงงาน ส่วน WTO จะขอความร่วมมือชะลอการนำเข้าทั้งในและนอกโควตาออกไปก่อน ส่วนราคามะพร้าวล่าสุด ขยับเป็นลูกละ 10.10 บาท
         

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงมาตรการดูแลการนำเข้ามะพร้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และองค์การการค้าโลก (WTO) ว่า การนำเข้ากรอบ AFTA ช่วงแรกปี 2566 กรมฯ จะผลักดันให้การพิจารณานำเข้ามีความสมดุลกับผลผลิตและการใช้ภายในประเทศ โดยหากมีความจำเป็นต้องนำเข้า กรมฯ พร้อมที่จะกำกับดูแลและตรวจสอบการนำเข้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะประเด็นห้ามนำไปจ้างกะเทาะนอกโรงงาน
         

%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7 scaled
มะพร้าว

โดยเงื่อนไขการนำเข้าภายใต้กรอบ AFTA จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ภายใต้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช โดยต้องนำเข้าเพื่อแปรรูปเป็นน้ำมันพืชหรืออาหารคนในกิจการตนเอง ห้ามจำหน่าย จ่าย โอน ภายในประเทศ ห้ามนำไปจ้างกะเทาะนอกโรงงาน ต้องรายงานบัญชีสมดุลแปรสภาพมะพร้าวผลเป็นเนื้อมะพร้าวขาว และให้นำเข้าช่วงม.ค.-ก.พ. และก.ย.-ธ.ค. ส่วนระหว่างเดือนก.ย.ถึงสิ้นปี 2565 จะไม่มีการนำเข้า

ส่วนการนำเข้าภายใต้กรอบ WTO ในโควตากำหนดปริมาณนำเข้าไม่เกินปีละ 2,317 ตัน ภาษี 20% ให้นำเข้าม.ค.-ก.พ. และก.ย.-ธ.ค. และนอกโควตาไม่จำกัดปริมาณ ภาษี 54% ซึ่งการนำเข้าทั้งในและนอกโควตา ผู้นำเข้าสามารถจ้างกะเทาะนอกโรงงานได้ แต่ต้องจัดทำทะเบียนเครือข่ายผู้กะเทาะมะพร้าว (รายย่อย) พร้อมให้ข้อมูลทะเบียนรถที่ใช้ในการขนส่งที่รับมะพร้าวไปกะเทาะ และรายงานให้พาณิชย์จังหวัดใช้เป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบย้อนกลับกับเอกสารใบขนย้ายมะพร้าว เพื่อป้องกันไม่ให้มะพร้าวนำเข้าหมุนเวียนในตลาดภายในประเทศ แต่ล่าสุดกรมฯ จะขอความร่วมมือผู้นำเข้าให้ชะลอการนำเข้าทั้งในและนอกโควตา
         

ทั้งนี้ การนำเข้ามะพร้าวทั้ง 2 กรอบ ต้องนำเข้า ณ ด่านสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบังเท่านั้น เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า
         

ปัจจุบันราคามะพร้าวผลในประเทศเริ่มขยับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตในประเทศเริ่มลดลง โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ราคามะพร้าวผลใหญ่ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั่วประเทศ สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพ.ย.2565 อยู่ที่ 10.10 บาทต่อผล เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.33 บาทต่อผล ที่ขายได้ 9.77 บาทต่อผล

ผู้สื่อข่าวายงานว่า มะพร้าวมีบทบาทสำคัญทั้งในเรื่องการนำมาทำอาหาร ทำขนม หรือเพื่อสุขภาพ ประเภทมะพร้าวมีทั้งมะพร้าวแกง มะพร้าวอ่อน และมะพร้าวน้ำหอม โดยการบริโภคมีทั้งแบบรับประทานสดและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายชนิด โดยเฉพาะมะพร้าวน้ำหอมซึ่งกำลังได้รับความนิยมมาก ไม่ว่าจะเดินทางไปจังหวัดไหนก็จะมีมะพร้าวน้ำหอมไว้บริการ มีจำหน่ายตามสถานที่หลายแห่ง รวมถึงริมถนนด้วย สามารถรับประทานทานมะพร้าวน้ำหอมได้อย่างสะดวก เพียงแค่เฉาะส่วนด้านบนแล้วเสียบหลอดดูด ปัจจุบันความนิยมบริโภคมะพร้าวเพื่อสุขภาพสร้างความตื่นตัวต่ออุตสาหกรรมการผลิตมะพร้าว จนทำให้จำนวนความต้องการการบริโภคมะพร้าวเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตมะพร้าวพัฒนากระบวนการตั้งแต่การปลูก การแปรรูป และการส่งออก