เมื่อเร็วๆ นี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดประชุมหารือแนวทางการเสนอโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผ่านระบบประชุมทางไกลออนไลน์ (Zoom Cloud Meetings) เพื่อหาข้อสรุปหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโครงการฯ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) พิจารณาเห็นชอบ พร้อมส่งเป็นของขวัญปีใหม่ให้เกษตรกร
นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 เป็นโครงการฯ ที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีที่รายได้ของเกษตรกรลดลงจากรายได้ที่คาดว่าเกษตรกรควรจะได้รับ และลดผลระทบต่อการดำเนินชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.8 ล้านราย ในพื้นที่สวนยาง 19 ล้านไร่ และคาดว่าจะใช้งบฯ ดำเนินการทั้งสิ้น 1.6 หมื่นล้านบาท
ซึ่งล่าสุด กยท. ได้ประชุมหารือกับทางสภาพัฒน์เพื่อปรับปรุงแก้ไขโครงการฯ ในเรื่องของงบประมาณและหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เพื่อนำเสนอ กนย. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้พร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วนที่สุดในส่วนของราคายางมีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเตรียมเข้าสู่ฤดูปิดกรีด และปริมาณยางเริ่มลดลง จำเป็นจะต้องจัดซื้อยางเพื่อสร้างความมั่นคงในภาคการผลิตซึ่งจะทำให้ความต้องการยางเพิ่มขึ้น
ผู้สื่ข่าวรายงานว่า ยางพาราเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย พบว่ามีเกษตรกรตลอดจนผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับยางพาราประมาณ 1 ล้านครอบครัว จำนวนไม่น้อยกว่า 6 ล้านคน ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของภาคใต้และของประเทศไทย โดยเฉพาะน้ำยาง (Latex) ซึ่งเป็นผลิตผลที่ได้จากท่อลำเลียงอาหารในส่วนเปลือกของต้นยางพารา สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ยางชนิดต่าง ๆ สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท ตั้งแต่อุตสาหกรรมหนัก เช่น การผลิตยางรถยนต์ ไปจนถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในครัวเรือน น้ำยางที่ได้จากต้นยางพารามีคุณสมบัติบางอย่างที่ยางสังเคราะห์ (Synthetic Rubber) ไม่สามารถทำให้เหมือนได้ ดังนั้นยางพาราจึงมีความสำคัญต่อประเทศไทยด้านต่าง ๆ
1. ความสำคัญทางเศรษฐกิจยางพารามีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยใน 3 ด้าน คือ 1.การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากยางพาราเป็นพืชที่ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก 2.การกระจายรายได้ของเกษตรกรที่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา จำนวนมากกว่า 6 ล้านคนทั่วประเทศ 3. เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอนและมีจำนวนเพิ่มขึ้น
2. ความสำคัญทางสังคม
ยางพาราเป็นพืชที่ทำให้เกิดการสร้างงานและอาชีพในชนบท จึงสามารถช่วยลดและแก้ปัญหาการเคลื่อนย้ายของแรงงานจากชนบทสู่สังคมเมือง และส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนให้ครอบครัวมีความอบอุ่นมากขึ้น
3. การรักษาสภาพแวดล้อม
ยางพาราเป็นพืชที่มีอายุมากกว่า 20 ปี มีพื้นที่ปลูกทั่วประเทศมากกว่า 12.3 ล้านไร่ กระจายอยู่ทุกจังหวัดในภาคใต้ยางพาราจึงเป็นพืชทดแทนป่าไม้ที่มีจำนวนลดลง และเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศให้มีมากขึ้น อีกทั้งภายในสวนยางพารายังมีพืชชนิดอื่น ๆ ที่สามารถปลูกร่วมได้ จึงทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น รวมทั้งเป็นที่อาศัยของสัตว์ต่าง ๆ ตามธรรมชาติ
4. อุตสาหกรรมไม้ยางพารา
อุตสาหกรรมไม้ยางพาราเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคตของประเทศไทย เนื่องจากประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลกมีการปิดป่าทำให้เกิดการขาดแคลนไม้ในการบริโภคจึงส่งผลให้ไม้ยางพาราเป็นที่ต้องการมากขึ้น นอกจากจะทำรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางทางหนึ่งแล้วยังทำให้เกิดรายได้เข้าประเทศมากขึ้นจากการส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปีด้วย โดยในเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 ประเทศไทยส่งออกไม้ยางพาราและเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพารา คิดเป็นมูลค่า 1,454.80 ล้านบาท
5. อุตสาหกรรมยางพารา
ผลผลิตของยางพารายังสามารถพัฒนาต่อไปในอนาคตได้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยางพาราหลายประเภทได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันของคนทั่วโลก เช่น ยางรถยนต์ และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น หากมีการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น เขื่อนยาง หรือใช้ยางพาราทำถนน ก็จะทำให้มีการใช้ยางพารามากขึ้น ซึ่งจะทำให้ยางพารามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสในการพัฒนาของประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตยางพารามากเป็นอันดับหนึ่งของโลกด้วย
6. อุตสาหกรรมถุงมือยาง
อุตสาหกรรมถุงมือยางจะมีการขยายตัวได้ดีจากความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกที่มีอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากกระแสความวิตกกังวลต่อการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค