เคาะจ่ายส่วนต่างข้าว งวดที่ 9 ชดเชย 4 ชนิด “ข้าวเปลือกเจ้า” รับเงินสูงสุด

“พาณิชย์”เคาะส่วนต่างประกันรายได้ข้าว งวดที่ 9 จ่ายชดเชย 4 ชนิด ยกเว้นข้าวเปลือกเหนียวที่ราคาทะลุเป้าหมาย เผยข้าวเปลือกเจ้ารับสูงสุด ตามด้วยข้าวเปลือกหอมมะลิ และธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ พร้อมแจ้งเกษตรกรที่ยังไม่ได้เงินและไม่มีบัญชีกับ ธ.ก.ส. ให้รีบติดต่อเปิดบัญชีด่วน ระบุทิศทางราคาข้าว มีแนวโน้มสูงขึ้น หลังส่งออกพุ่ง  

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2565/66 งวดที่ 9 สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 3-9 ธ.ค.2565 โดยมีการจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกปทุมธานี และข้าวเปลือกเจ้า ส่วนข้าวเปลือกเหนียว ไม่ต้องจ่าย เพราะราคาสูงกว่าเป้าหมาย

639312a7429c9

สำหรับการชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง งวดที่ 9 ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 14,253.21 บาท ชดเชยตันละ 746.79 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 10,455.06 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคา 13,470.78 บาท ชดเชยตันละ 529.22 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 8,467.52 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ราคา 10,658.19 บาท ชดเชยตันละ  341.81 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 8,545.25 บาท และข้าวเปลือกเจ้า ราคา 9,488.83 บาท ชดเชยตันละ 511.17 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 15,335.10 บาท ส่วนข้าวเปลือกเหนียว ราคา 12,131.05 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาเป้าหมายที่ตันละ 12,000 บาท จึงไม่มีการชดเชยส่วนต่างในงวดนี้ ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินให้เกษตรกรภายใน 3 วันทำการ หรือภายในวันที่ 15 ธ.ค.2565

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันที่เก็บเกี่ยวในช่วงวันที่ 26 พฤศจิกายน ถึง 2 ธันวาคม 2565 ธ.ก.ส. ได้โอนเงินส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในงวดที่ 8 เข้าบัญชีเกษตรกรในวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา เป็นจำนวนเงิน 557.58 ล้านบาท โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์จำนวน 192,775 ครัวเรือน

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินประกันรายได้ เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2565/66 กับกรมส่งเสริมการเกษตร และต้องแจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยว เพื่อใช้เป็นข้อมูลช่วงเวลาที่เกษตรกรจะได้รับสิทธิชดเชย โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จะจัดส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำแนกตามช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวและคำนวณปริมาณผลผลิต โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวแต่ละชนิดคูณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เป็นปริมาณผลผลิตที่ต้องชดเชยส่งให้ ธ.ก.ส. ประมวลผลเพื่อดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบจากคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถรตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile และ A-Mobile Plus ตลอด 24 ชั่วโมงและจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect รวมถึงสามารถเบิกถอนเงินสดผ่านตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ สำหรับเกษตรกรที่มีข้อสอบถามเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนี้ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า การประกันราคา คือ การที่รัฐบาลกำหนดราคาให้เกษตรกรรู้ล่วงหน้าว่าในเดือนที่จะขายสินค้าเกษตรนั้น เกษตรกรสามารถที่จะขายผลผลิตได้ราคาเท่าใด แล้วหากราคาตลาดที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า“ราคาประกัน” รัฐบาล จะจ่ายเงินชดเชยให้เท่ากับส่วนต่างของราคาที่ประกันไว้กับราคาตลาดที่เกษตรกรขายได้ทั้งนี้เกษตรกรต้องมาจดทะเบียนการประกันราคากับ ธกส.

ปัญหาที่สำคัญของการประกันราคาข้าวคือ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มียุ้งฉางที่สามารถเก็บรักษาสินค้าเกษตรของตนไว้ได้ ขณะเดียวกันผลผลิตสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ออกตามฤดูกาล ทำให้ผลผลิตออกมาพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เมื่อเกษตรกรไม่มียุ้งฉางที่จะจัดเก็บ จึงต้องขายให้กับพ่อค้าคนกลางและมีโอกาสที่จะถูกกดราคามากและท้ายที่สุดรัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากไปชดเชยราคาให้กับเกษตรกร