การเปิดใช้งานรถไฟจีน-ลาวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 นับเป็นหมุดหมายสำคัญในการคมนาคมขนส่งและการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านระบบรางเป็นครั้งแรก
ย้อนกลับไปในวันดังกล่าว จีนจัดพิธีปล่อยขบวนรถไฟขนส่งผู้โดยสารเที่ยวแรกจากสถานีคุนหมิงไปยังสถานีโม่ฮานเมื่อเวลา 16.45 น. ซึ่งในเวลาเดียวกันนี้ สปป. ลาวก็จัดพิธีปล่อยขบวนรถไฟ “ล้านช้าง” ขนส่งผู้โดยสารจากสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ไปยังสถานีบ่อเต็นเช่นเดียวกัน โดยนับตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงขณะนี้ จีนกับลาวยังคงไม่เปิดเดินขบวนรถไฟขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศเนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19
ในด้านการขนส่งสินค้า ในวันเดียวกับการเปิดใช้งานรถไฟจีน-ลาวอย่างเป็นทางการ เมื่อเวลา 17.00 น. ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเที่ยวปฐมฤกษ์บรรทุกวัตถุดิบอาหารสัตว์ไดแคลเซียมฟอสเฟส50 ตู้ TEU เดินทางออกจากสถานีคุนหมิงข้ามแดนไปจนถึงสถานีเวียงจันทน์ใต้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 เวลา 23.11 น. ขณะที่ในฝั่งลาว ก็มีการปล่อยขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเที่ยวปฐมฤกษ์บรรทุกยางพารามูลค่า 10 ล้านหยวนจากสถานีเวียงจันทน์ใต้ ซึ่งเดินทางมาถึงสถานีรถไฟขนส่งสินค้าหวังเจียหยิง นครคุนหมิง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2564 เวลา 22.55 น.
โดยในระยะแรกของการเปิดเดินรถไฟขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว แม้จะมีการเดินรถไฟระหว่างประเทศแล้ว แต่ยังคงมีข้อจำกัดที่ด่านรถไฟโม่ฮานสามารถนำเข้าสินค้าประเภทเทกอง เช่น ยางพารา แร่เหล็ก แป้งมันสำปะหลัง เท่านั้น เนื่องจากด่านรถไฟโม่ฮานยังขาดความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการตรวจกักกันสินค้านำเข้าจำเพาะประเภทต่าง ๆ ตามที่สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (General Administration of Customs of the People’s Republic of China: GACC) กำหนด ซึ่งในที่นี้ครอบคลุมถึงข้อจำกัดที่ไม่สามารถนำเข้าสินค้าผลไม้ที่เป็นสินค้าศักยภาพของไทยในตลาดจีนด้วย
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งจีนบังคับใช้นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” (Zero Covid) อย่างเข้มข้น และส่งผลกระทบต่อการขนส่งผลไม้ไทยไปจีนผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะด่านชายแดนทางบกในมณฑลยูนนานและเขตฯ กว่างซีก็มีภาคเอกชนไทยส่วนหนึ่งได้พยายามใช้วิธีการขนส่งหลากหลายรูปแบบ (multimodal transport) โดยผสมผสานการขนส่งทางถนนด้วยรถบรรทุกกับการขนส่งผ่านระบบรางช่วงภายใน สปป. ลาว เพื่อทดลองขนส่งผลไม้ไทยไปยังจีนผ่านด่านชายแดนในมณฑลยูนนาน
ตัวอย่างเช่น (1) กรณีของบริษัทเก้าเจริญเทรนทรานสปอร์ต จำกัด ที่ทดลองขนส่ง ทุเรียนจำนวน 2 ตู้คอนเทนเนอร์ และมะพร้าวจำนวน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักรวม 40 ตัน ด้วยรถไฟในเส้นทางสถานีมาบตาพุด-ด่านหนองคาย-สถานีท่านาแล้ง ก่อนเปลี่ยนมาขนส่งด้วยรถบรรทุกจากสถานีท่านาแล้งไปยังสถานีเวียงจันทน์ใต้ และเปลี่ยนมาขนส่งด้วยรถไฟอีกครั้งจากสถานีเวียงจันทน์ใต้ไปยังสถานีนาเตย ก่อนที่ในท้ายที่สุดจะเปลี่ยนถ่ายมาขนส่งด้วยรถบรรทุกอีกครั้งเพื่อเข้าจีนผ่านด่านโม่ฮาน และ (2) กรณีของบริษัทไทยฮงฟู้ด จำกัด ที่ทดลองขนส่งทุเรียนจำนวน 27 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักรวม 500 ตัน โดยใช้บริการชิปปิ้งของบริษัทสปีดอินเตอร์ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งเริ่มขนส่งออกจากประเทศไทยผ่านด่านหนองคายไปยังสถานีเวียงจันทน์ใต้ด้วยรถบรรทุกและเปลี่ยนมาใช้การขนส่งด้วยรถไฟช่วงภายใน สปป. ลาวจากสถานีเวียงจันทน์ใต้ไปยังสถานีนาเตย ก่อนเปลี่ยนถ่ายมาขนส่งด้วยรถบรรทุกเข้าจีนผ่านด่านโม่ฮานและกระจายสินค้าต่อภายในจีนผ่านระบบรถไฟจีน เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่า การทดลองขนส่งผลไม้ไทยไปจีนผ่านวิธีการขนส่งหลากหลายรูปแบบข้างต้นเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เรียนรู้และสร้างความเข้าใจต่อรูปแบบและความเป็นไปได้ในการขนส่งผลไม้ผ่านระบบรางไปยังจีน รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานฝ่ายจีนที่เกี่ยวข้องล่วงหน้า เพื่อให้มีความพร้อมดำเนินการขนส่งผลไม้ผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวตลอดสายในระยะต่อไปเมื่อด่านรถไฟโม่ฮานมีความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกตามข้อกำหนดของสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนแล้ว ขณะเดียวกัน การทดลองขนส่งทั้งสองกรณีข้างต้นก็มีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถถอดบทเรียนการขนส่งด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งในระยะแรกยังคงมีต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายสูงจากความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งกลับไปมาหลายครั้งตลอดเส้นทาง
ในภาพรวม นับตั้งแต่เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการจนถึงขณะนี้ ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าผ่านรถไฟจีน-ลาวล้วนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนับจนถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2565 รถไฟจีน-ลาวได้ขนส่งผู้โดยสารแล้วกว่า 8.5 ล้านคน และได้ขนส่งสินค้าแล้วกว่า 11.20 ล้านตัน ในจำนวนนี้ เป็นปริมาณสินค้าข้ามแดนกว่า 2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่านำเข้า-ส่งออกกว่า 13,000 ล้านหยวน
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในด้านการขนส่งสินค้า ปริมาณการขนส่งสินค้าของรถไฟจีน-ลาวได้เพิ่มขึ้นจากหลักแสนตันต่อเดือนในระยะแรกเป็นหลักล้านตันต่อเดือนในขณะนี้ นอกจากนี้ ยังมีมณฑล 25 แห่งทั่วจีนที่เปิดเดินขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อมกับเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ส่งผลให้ขณะนี้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวมีขบวนรถไฟขนส่งสินค้าข้ามแดนวันละ 6 คู่ หรือ 12 ขบวน รวมทั้งมีความหลากหลายของประเภทสินค้าเพิ่มขึ้นจากเพียง 100 ชนิดเป็นกว่า 1,200 ชนิด อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ประเภทสินค้าที่สามารถส่งออกจากจีนผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวยังคงมีความหลากหลายมากกว่าประเภทสินค้าที่สามารถนำเข้าจีนผ่านช่องทางดังกล่าวได้
ในวาระครบรอบหนึ่งปีของการเปิดใช้งานรถไฟจีน-ลาว พัฒนาการสำคัญที่นับเป็นข่าวดีของเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยคงได้แก่การเปิดใช้งานสถานที่ตรวจกักกันจำเพาะสำหรับการนำเข้าผลไม้ของด่านรถไฟโม่ฮาน ซึ่งส่งผลให้นับตั้งแต่นี้ ผู้ประกอบการไทยจะมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการขนส่งผลไม้ไปยังจีนด้วยระบบรางผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว โดยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนได้ประกาศรายชื่อสถานที่ตรวจกักกันจำเพาะสำหรับการนำเข้าผลไม้ฉบับล่าสุด โดยเพิ่มสถานที่ตรวจกักกันจำเพาะสำหรับการนำเข้าผลไม้ของด่านรถไฟโม่ฮานด้วย ส่งผลให้ขณะนี้ ด่านรถไฟโม่ฮานมีสถานะเป็น “ด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้” (designated port for imported fruits) ตามข้อกำหนดของสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนอย่างเป็นทางการและสามารถเริ่มนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้แล้ว
สำหรับความเคลื่อนไหวของการเริ่มนำเข้าผลไม้ผ่านด่านรถไฟโม่ฮานนั้น เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ขบวนรถไฟขนส่งผลไม้ผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเที่ยวปฐมฤกษ์ซึ่งบรรทุกกล้วยลาวจำนวน 13 ตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงทุเรียนและลำไยไทยจำนวน 12 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักรวม 543 ตัน ได้เดินทางออกจากสถานีเวียงจันทน์ใต้ผ่านอุโมงค์มิตรภาพรถไฟจีน-ลาวบริเวณชายแดนบ่อเต็น-โม่ฮานจนมาถึงด่านรถไฟโม่ฮานเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ก่อนรับการตรวจกักกันโรคพืช รวมทั้งผ่านมาตรการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19
จากนั้น ในช่วงเที่ยงของวันที่ 3 ธันวาคม 2565 ขบวนรถไฟขนส่งผลไม้เที่ยวดังกล่าวจึงได้เดินทางออกจากสถานที่ตรวจกักกันจำเพาะสำหรับการนำเข้าผลไม้ของด่านรถไฟโม่ฮานมุ่งหน้าไปยังนครคุนหมิงเพื่อกระจายสินค้าภายในจีนต่อไป ที่สำคัญ ภายหลังขบวนรถไฟขนส่งผลไม้เที่ยวแรกข้างต้นแล้ว ก็ยังมีขบวนรถไฟขนส่งผลไม้ผ่านด่านรถไฟโม่ฮานตามมาอีกเรื่อย ๆ เช่นขบวนรถไฟบรรทุกกล้วยลาวและลำไยไทย รวม 25 ตู้คอนเทนเนอร์ รวมมูลค่ากว่า 5.5 ล้านหยวน ปลายทางนครฉงชิ่ง ที่เริ่มเดินทางออกจากสถานีเวียงจันทน์ใต้มาเข้าจีนผ่านด่านรถไฟโม่ฮานตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2565 เป็นต้น
ปัจจุบัน มณฑลยูนนานมีด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศที่สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนให้การรับรองรวม 9 แห่ง ประกอบด้วย ด่านทางอากาศ ได้แก่ ด่านท่าอากาศยานนานาชาติฉางสุ่ย นครคุนหมิง ด่านทางบกบริเวณชายแดนจีน-เวียดนาม ได้แก่ ด่านเหอโข่วและด่านเทียนเป่า ด่านทางบกบริเวณชายแดนจีน-เมียนมา ได้แก่ ด่านต่าลั่ว ด่านจางเฟิ่ง ด่านหว่านติง และด่านโหวเฉียว และด่านทางบกบริเวณชายแดนจีน-สปป. ลาว ได้แก่ ด่านโม่ฮานและด่านรถไฟโม่ฮาน
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบัน เมื่อพิจารณาในทางปฏิบัติ ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปยังจีนผ่านมณฑลยูนนานได้ 5 ช่องทาง ได้แก่ (1) ด่านท่าอากาศยานนานาชาติฉางสุ่ย นครคุนหมิง (2) ด่านโม่ฮาน (3) ด่านรถไฟโม่ฮาน (4) ด่านเหอโข่ว และ (5) ด่านเทียนเป่า โดยทั้ง 5 ช่องทางดังกล่าวได้รับการระบุรวมอยู่ใน “พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน” แล้ว ทั้งนี้ สำหรับด่านรถไฟเหอโข่ว แม้จะได้รับการระบุรวมอยู่ในพิธีสารฯ ข้างต้น แต่จนถึงขณะนี้ยังคงไม่ได้รับการประกาศให้เป็นด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้โดยสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน ผู้ประกอบการไทยจึงยังไม่สามารถส่งออกผลไม้ไปจีนผ่านช่องทางนี้ได้
กล่าวโดยสรุป การเปิดใช้งานสถานที่ตรวจกักกันจำเพาะสำหรับการนำเข้าผลไม้ของด่านรถไฟโม่ฮานซึ่งทำให้ด่านรถไฟโม่ฮานได้รับการรับรองจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนให้เป็นด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ จะมีส่วนช่วยยกระดับการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวในภาพรวม โดยสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยแล้ว พัฒนาการดังกล่าวได้ช่วยเพิ่มทางเลือกการป้อนผลไม้ซึ่งเป็นสินค้าไทยที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดจีนให้หลากหลายขึ้น อย่างไรก็ดี ในระยะแรกที่ด่านรถไฟโม่ฮานเปิดให้นำเข้าผลไม้อย่างเป็นทางการได้นั้น ผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์จะทดลองส่งออกผลไม้ผ่านช่องทางดังกล่าว ควรต้องตรวจสอบและประสานงานกับผู้ให้บริการขนส่งอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านต้นทุนและเวลาประกอบการพิจารณาเลือกใช้การขนส่งสินค้าผ่านช่องทางนี้
อนึ่ง ตามแผนก่อสร้างสถานที่ตรวจกักกันโรคพืชและสัตว์ระยะที่หนึ่ง ด่านรถไฟโม่ฮานได้วางแผนงานเพื่อยื่นขออนุมัติการเป็นด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ 3 ประเภท ได้แก่ ผลไม้ ธัญพืช และสินค้าประมงแช่เย็น โดยในชั้นนี้ นอกเหนือจากการนำเข้าผลไม้ ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นทางการแล้ว ด่านรถไฟโม่ฮานยังคงไม่สามารถรองรับการนำเข้าสินค้าประเภทธัญพืชและสินค้าประมงแช่เย็นได้จนกว่าสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนจะมีประกาศเพิ่มเติมต่อไป โดยบีไอซีคุนหมิงจะติดตามพัฒนาการเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อนำความคืบหน้ามารายงานให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเตรียมความพร้อมส่งออกสินค้าศักยภาพผ่านช่องทางดังกล่าวได้ในโอกาสแรก