นำเข้า”ส้ม”จากจีน โอกาสการค้าผลไม้สองทาง ไทย-จีน

เหตุใดจึงกล่าวว่า… ผลไม้ ‘ไทย-จีน’ มีลักษณะส่งเสริมกัน นั่นก็เพราะความแตกต่างของสภาพดิน ฟ้า อากาศ ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ ผลไม้ของทั้งสองประเทศมีข้อได้เปรียบที่แตกต่างกัน โดยประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตรที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกผลไม้เมืองร้อน ขณะที่ประเทศจีนมีสภาพภูมิอากาศเขตอบอุ่นเหนือ มีฤดูกาลที่ค่อนข้างชัดเจน การเพาะปลูกผลไม้ทางภาคเหนือและภาคใต้จึงแตกต่างกันไป ส่งผลดีต่อการป้อนผลผลิตที่หลากหลายและมีคุณภาพเข้าสู่ตลาด

จีนเริ่มดำเนินนโยบายการเปิดตลาดในปี 2521 ทำให้การผลิตผลไม้ของจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จีนจึงเป็นทั้งประเทศผู้ผลิตและบริโภคผลไม้มากที่สุดในโลก นอกจากแอปเปิลและลูกแพร์ที่จีนมีผลผลิตมากที่สุดในโลกแล้ว การปลูกผลไม้ตระกูลส้มมีมากเป็นอันดับ 3 ของโลก

ทั้งนี้ หากพูดถึง ‘ผลไม้จีน’ ต้องมีชื่อของ “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” ติดอันดับพื้นที่เพาะปลูกผลไม้มากที่สุดแห่งหนึ่งของจีน ด้วยสภาพภูมิอากาศแบบลมมรสุมเขตกึ่งร้อน ทำให้มณฑลแห่งนี้มีผลไม้ประจำฤดูกาลที่หลากหลายในทุกฤดู

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา เขตฯ กว่างซีจ้วง สามารถผลิตผลไม้มากที่สุดในประเทศจีนติดต่อกัน 4 ปี โดยเฉพาะผลไม้ตระกูลส้ม มะม่วง ลูกพลับ แก้วมังกร และเสาวรส ล้วนมีปริมาณผลผลิตสูงที่สุดในประเทศจีน

capture 20221217 152401 1
ส้มว่อกาน

ในบรรดาผลไม้ตระกูลส้ม “ส้มว่อกาน” (Wogan Orange/沃柑) ได้รับการขนานนามเป็น “ราชินีแห่งส้ม” โดยเขตฯ กว่างซีจ้วงและมณฑลยูนนาน ถือเป็นแหล่งปลูกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจีน มีพื้นที่ปลูกรวมกันถึง 90% ของทั้งประเทศ

นอกจากการบริโภคภายในประเทศแล้ว หลายปีมานี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงยังเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตเพื่อการส่งออกด้วย โดยมอง “อาเซียน” เป็นตลาดเป้าหมายที่สําคัญของ ‘ส้มกว่างซี’ เนื่องจากอาเซียนเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรจํานวนมาก และมีความนิยมบริโภคส้มอย่างแพร่หลาย กอปรกับยังมีเส้นทางการขนส่งผลไม้ที่หลากหลายทั้งทางถนน ทางราง ทางทะเล และทางอากาศ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการขนส่งสั้น สอดรับกับข้อจํากัดของผลไม้สดที่มีอายุในการเก็บรักษาค่อนข้างสั้น

นับตั้งแต่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ได้นำมาซึ่ง ‘โอกาสใหม่’ ให้กับผลไม้กว่างซี ข้อมูลจากศุลกากร ชี้ว่า ช่วง 10 เดือนแรก ปี 2565 ประเทศสมาชิกในกรอบ RCEP นำเข้าผลไม้จากจีนผ่านกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เพิ่มขึ้น 87.2% ตู้ผลไม้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ล่าสุด บริษัท Jinguang Farm ประสบความสำเร็จในบุกเบิกตลาดส้มว่อกาน สายพันธุ์จินกวางอีฮ่าว หรือ Jinguang No.1 (金光一号) ในประเทศสิงคโปร์ได้เป็นครั้งแรก คิดเป็นน้ำหนัก 9 ตัน โดยการส่งออกส้มว่อกานล็อตนี้ผ่านกิจกรรมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม China Day ครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำบรูไนก่อนจะนำเข้าไปจำหน่ายในห้างร้านในสิงคโปร์ และในอนาคต บริษัทฯ ยังวางแผนจะขยายตลาดส่งออกแก้วมังกรและส้มกิมจ้อ (Kumquat/金桔) ไปยังประเทศสมาชิก RCEP อีกด้วย

บริษัท Jinguang Farm เป็นบริษัทในเครือ Guangxi State Farm Group ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรของจีน โดยบริษัท Jinguang Farm มีสวนส้มว่อกานในเขตสาธิตด้านการเกษตรสมัยใหม่หลงซาน (龙山现代特色农业示范区) เนื้อที่ราว 1,041 ไร่ เป็นสวนส้มมาตรฐานขนาดใหญ่ที่มี Guangxi State Farm Group เป็นเจ้าของ การปลูกส้มว่อกานใช้มาตรฐานอาหารฉลากเขียว (Green Food) ใช้แผ่นกาวดักแมลง ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และมีการใช้เครื่องจักรทางการเกษตรและระบบอัจฉริยะในการบริหารจัดการสวนส้ม เพื่อสร้างประกันด้านคุณภาพและช่วยสร้างมูลค่าให้กับส้มว่อกานได้เป็นอย่างดี

ความสำเร็จในการส่งออกส้มว่อกานในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบรับรองสินค้าฮาลาลของส้มว่อกาน โดยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ได้มีการเปิดป้ายศูนย์บริการรับรองคุณสมบัติ (Certification authority – CA/资质认证服务中心) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน หรือที่เรียกสั้นๆว่า CABC (China-ASEAN Business Center/中国-东盟经贸中心) ไปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวมีความร่วมมือกับหน่วยงานรับรองมาตรฐานสินค้าประเภทต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการส่งออกสินค้าของจีน(กว่างซี)ไปยังต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว และช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคุณภาพสินค้าให้กับผู้บริโภคในต่างประเทศได้อีกด้วย

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจข้างต้นเป็นโอกาสทางการค้าสำหรับภาคธุรกิจนำเข้าของไทยสำหรับการค้าแบบสองทาง ปัจจุบัน การส่งออกผลไม้ไทยมายังประเทศจีนด้วยการขนส่งทางบกผ่านเส้นทาง R9 และ R12 นั้นบางส่วนเป็นการค้าทางเดียว (ตีรถเปล่ากลับประเทศไทย) ซึ่งเป็นต้นทุนเสียเปล่า โดยผลไม้ตระกูลส้ม ซึ่งสามารถปลูกได้ดีในพื้นที่เขตกึ่งร้อนอย่างกว่างซี นับเป็นอีกกลุ่มสินค้าที่สามารถเติมเต็มช่องว่างดังกล่าวได้ โดยส้มที่ปลูกได้ในกว่างซีไม่ได้เป็นสายพันธุ์ที่ทับซ้อนกับส้มที่ปลูกได้ในประเทศไทย อาทิ ส้มว่อกาน ส้มซาถาง (砂糖橘) ส้มกิมจ๊อ ส้มฉีเฉิง (脐橙) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การค้าระหว่างสองประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี ผู้นำเข้าไทยจะต้องศึกษากฎระเบียบการนำเข้า และปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดภายใต้กรอบพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านการกักกันโรคและการตรวจสอบสำหรับสินค้าผลไม้ที่ส่งออกจากจีนไปไทย เพื่อป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชที่อาจติดมากับกิ่งใบและดิน (ที่ผ่านมา มักพบปัญหามีใบและกิ่งส้มติดมากับผลส้มจากจีน) รวมถึงติดตามสถานการณ์การขนส่งบริเวณด่าน และการเปิดช่องทางการขนส่งใหม่ ๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งศูนย์บีไอซีก็จะรายงานข้อมูลอัปเดทให้ผู้ประกอบการทราบเป็นระยะ