มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 15…แค่ 8 เดือน ก็ขุดขายได้

.

ประวัติ : มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 15 หรือ มันสำปะหลังสายพันธุ์ OMR45-27-76 ได้จากการผสมเปิดของพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ซึ่งเป็นพันธุ์แม่ที่ให้ ผลผลิตสูงและปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อม เริ่มดำเนินการผสมพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ในปี 2545 หลังจากผ่านการคัดเลือกพันธุ์และเปรียบเทียบพันธุ์เบื้องต้นที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยองแล้ว ได้นำไปปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐานและประเมินผลผลิตที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ฯ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฯ ตลอดจนไร่เกษตรกรจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญของประเทศรวม 16 จังหวัด ดำเนินการตั้งแต่ปี 2545-2558 มีจำนวนแปลงทดลองตั้งแต่ขั้นคัดเลือกพันธุ์จนถึงขั้นทดสอบพันธุ์รวมทั้งสิ้น 40 แปลงทดลอง

323429878 1033894984669514 6931930234340291620 n
มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 15

ลักษณะประจำพันธุ์ : ลำต้นมีสีเขียวเงิน สูง 215 เซนติเมตร จำนวนชั้นของการแตกกิ่ง 0-1 ชั้น ระดับความสูงที่แตกกิ่ง 140-160 เซนติเมตร มุมของกิ่ง 80-95 องศา ก้านใบมีสีแดงอมเขียว ยาว 15-20 เซนติเมตร ใบรูปร่างของแฉกใบกลางเป็นแบบ Lanceolate ใบแรกที่เจริญเต็มที่มีสีเขียวเข้ม ยอดอ่อนมีสีเขียวอ่อน สีของผลภายนอกหัวมีสีน้ำตาล เนื้อมีสีขาว ผลผลิตหัวสด 4,632 กิโลกรัมต่อไร่ เปอร์เซ็นต์แป้ง 29.2 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตแป้ง 1,355 กิโลกรัมต่อไร่ เปอร์เซ็นต์มันแห้ง 39.4 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตมันแห้ง 1,826 กิโลกรัมต่อไร่ ดัชนีการเก็บเกี่ยว 0.62 เปอร์เซ็นต์ ความต้านทานโรคใบไหม้ในสภาพโรงเรือนค่อนข้างอ่อนแอ การเข้าทำลายของไรแดงระดับปานกลาง การเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งระดับเล็กน้อย การเข้าทำลายของแมลงหวี่ขาวระดับเล็กน้อย

323695583 1317202635767629 7864535983051055175 n
มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 15

ลักษณะเด่น

1.มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตที่อายุ 8 เดือน

2.ผลผลิตหัวสดสูงเฉลี่ย 4,632 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 ระยอง 72 และเกษตรศาสตร์ 50 คิดเป็นร้อยละ 10 18 5 และ 4 ตามลำดับ เมื่ออายุ 8 เดือน

.

3. เปอร์เซ็นต์แป้งสูงเฉลี่ย 29.2 สูงกว่าพันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 และระยอง 72 คิดเป็นร้อยละ 4 1 และ 5 ตามลำดับ เมื่ออายุ 8 เดือน

4. ผลผลิตแป้งสูงเฉลี่ย 1,355 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุระยอง 5 ระยอง 7 ระยอง 72 และเกษตรศาสตร์ 50 คิดเป็นร้อยละ 13 18 10 และ 2 ตามลำดับ เมื่ออายุ 8 เดือน

.

พื้นที่แนะนำ : ปลูกได้ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วไปทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง พื้นที่ที่ให้ผลผลิตสูง เช่น จังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี ขอนแก่น เลย มหาสารคาม มุกดาหาร และอุบลราชธานี เป็นต้น

ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด : ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคใบไหม้ในฤดูฝน

สำหรับการดูแลมันสำปะหลังเพื่อให้ผลผลิตที่ดีตามที่ต้องการ ปลอดจากโรคและแมลงรบกวน เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงเพาะปลูก ทุก 5 – 7 วัน หากพบการระบาดของโรคหรือแมลง จะต้องเพิ่มระยะการตรวจสอบแปลงเพาะปลูกให้ถี่ขึ้นทุก 3 วัน  ภายในช่วง 3 เดือนแรกหลังการปลูกถือว่าเป็นช่วงสำคัญของมันสำปะหลัง ต้องคอยดูแลแปลงปลูกให้ปลอดวัชพืช ได้แก่ หญ้าตีนติด หญ้าปากควาย  หญ้าตีนนก หญ้าขจรจบ บานไม่รู้โรยป่า ผักยาง สาบแร้งสาบกา ฯลฯ หากปล่อยให้วัชพืชเติบโตแย่งอาหารกับต้นมันสำปะหลัง จะส่งผลกระทบทำให้มันสำปะหลังมีลำต้นแคระแกร็น มีผลผลิตลดลง 20 – 30%

เกษตรกรควรดูแลป้องกันกำจัดวัชพืชอย่างเหมาะสม หลังปักท่อนพันธุ์ควรฉีดยาคุมฆ่าหญ้า วิธีนี้สามารถคุมวัชพืชได้นาน 1 เดือน แปลงปลูกมันสำปะหลังอายุ 2 – 5 เดือน นิยมใช้แรงคนทําโดยไถระหว่างแถวด้วยรถไถเดินตามหรือทำการถากหญ้า หรือฉีดยาฆ่าหญ้าทําซ้ำ2 -3 ครั้งจนกระทั่งต้นมันสําปะหลังอายุ 5 เดือน เจริญเติบโต สร้างพุ่มใบคลุมพื้นที่ระหว่างร่องเพาะปลูกทั้งหมดซึ่งจะทำให้วัชพืชไม่ขึ้นมารบกวน 

การให้น้ำที่เหมาะสม

มันสำปะหลังต้องการน้ำมากที่สุดในช่วง 6 – 10 เดือน ใช้น้ำน้อยที่สุด 1 – 5 เดือน แต่ถ้าขาดน้ำโดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งอาจทำให้ผลผลิตลดลงถึง 60% ด้วยเหตุนี้เอง น้ำ จึงเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญต่อการเจริญเติบโต ดังนั้นเกษตรกรบางรายจึงตัดสินใจลงทุนทำระบบน้ำหยดเพื่อให้แปลงเพาะปลูกมันสำปะหลังได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอในช่วงฤดูแล้ง  ต้นมันสำปะหลังสามารถเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน เมื่อมันสำปะหลังได้รับน้ำตามระบบจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 30 – 50% เพราะน้ำ คือปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวช่วย ละลายธาตุอาหารจากดินสู่ลำต้นและใบ หากขาดน้ำ ลำต้นจะแคระแกร็นไม่มีแป้งไปสะสมในหัวมันสำปะหลัง