ปลัดเกษตรฯ เตรียมยกระดับสวนกล้วยไม้ตัวอย่าง เป็นจุดเรียนรู้แก่เกษตรกร

ปลัดเกษตรฯ เตรียมยกระดับสวนกล้วยไม้ตัวอย่าง เป็นจุดเรียนรู้แก่เกษตรกรในด้านการจัดการสวนกล้วยไม้ตัดดอกตามมาตรฐาน GAP และการส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพ

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรฯเปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการสวนกล้วยไม้ของนายสมศักดิ์ สัจจานุรักษ์วงศ์ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ เขตหนองแขม กรุงเทพฯ ว่าการลงพื้นที่ดูงานสวนกล้วยไม้ในวันนี้ ถือเป็นการต่อยอดการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรโดยสนับสนุนให้ใช้สารชีวภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร และพัฒนาด้านตลาดการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาเป็นจุดเรียนรู้การผลิตกล้วยไม้ IoT (Internet of Thing)

324302164 567274788206068 6402267803980952861 n
ยกระดับสวนกล้วยไม้

ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ทำการเกษตรปลอดภัยและจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) รวมทั้งการอบรมด้านการควบคุมกำจัดแมลงศัตรูพืชผ่านการจัดกระบวนการรู้เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ตลอดจนการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ในการผลิตสารชีวภัณฑ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าสวนกล้วยไม้ดังกล่าวประสบผลสำเร็จในด้านการจัดการสวนกล้วยไม้ตัดดอกให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน GAP มีการผลิตสารชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพ สามารถส่งเสริมให้เป็นจุดเรียนรู้ด้านการผลิตกล้วยไม้ตัดดอก และจุดเรียนรู้การผลิตสารชีวภัณฑ์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่และผู้ที่สนใจ

 

ในโอกาสนี้ ปลัดเกษตรฯ ได้รับฟังปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่พร้อมร่วมหารือแนวทางการแก้ไข และเยี่ยมชมแปลงกล้วยไม้ โดยได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ขณะเดียวกันได้กำชับเจ้าหน้าที่ จะลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานด้วยตนเองอีกครั้งในอีก 3 เดือนข้างหน้า

โดยสรุป 5 ประเด็น ดังนี้

1. เปิดพื้นที่และเป็นจุดกระจายผลผลิตให้แก่เกษตรกร ได้นำกล้วยไม้ จำปี และรัก ไปวางจำหน่ายที่ตลาด อ.ต.ก. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและยกระดับสินค้าสู่ตลาดพรีเมี่ยม 2. ส่งเสริมการรวมกลุ่มและบริหารจัดการกิจการของกลุ่มเกษตรกรให้เป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ในการขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ การลดต้นทุนการผลิต การขนส่งที่คุ้มค่า การจดทะเบียนกลุ่มเกษตรกรและการจัดทำบัญชี 3. มอบหมายกรมชลประทาน แก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ คุณภาพน้ำ และการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ โดยจะบูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานครและส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

4. ส่งเสริมให้เป็นจุดเรียนรู้และกระจายสารชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์ม่าของกรมพัฒนาที่ดินให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและลดการใช้สารเคมีในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ และ 5. เพิ่มช่องทางการตลาดส่งออกให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยให้ทูตเกษตรฯ ทำหน้าที่เปิดตลาดสินค้าเกษตรในต่างประเทศเพิ่มเติม นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยินดีที่จะสนับสนุนการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียน “จำปีหนองแขม” เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ชนิดที่ 3 ของกรุงเทพมหานครอีกด้วย      

สำหรับสวนกล้วยไม้ของนายสมศักดิ์ สัจจานุรักษ์วงศ์ เดิมเป็นพื้นที่ปลูกผักก่อนจะเริ่มทดลองปลูกกล้วยไม้ 5 ไร่ เนื่องจากราคากล้วยไม้ตัดดอกมีราคาค่อนข้างสูง และบริเวณพื้นที่เขตหนองแขม เขตบางแค เป็นพื้นที่ที่ปลูกกล้วยไม้อย่างแพร่หลาย จึงปรับเปลี่ยนมาปลูกกล้วยไม้ จนปัจจุบันสวนกล้วยไม้ของนายสมศักดิ์มีพื้นที่ปลูกจำนวน 14 ไร่ โดยนายสมศักดิ์ยึดอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้มากว่า 30 ปี ในด้านการผลิตกล้วยไม้ของนายสมศักดิ์ ได้ประสบปัญหาด้านศัตรูพืช จึงได้นำสารชีวภัณฑ์ คือ เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า และเชื้อราบิวเวอเรีย มาใช้ในการกำจัดศัตรูพืชในแปลงกล้วยไม้ เพื่อลดการใช้สารเคมี โดยทดลองใช้ในสวนของตนเองก่อนจะนำไปใช้ในสวนของเกษตรกรบริเวณใกล้เคียง ซึ่งจากการใช้สารชีวภัณฑ์สามารถลดค่าใช้จ่ายสารกำจัดศัตรูพืชและทำให้เกษตรกรมีสุขภาพที่ดี ปลอดภัยจากสารเคมี

ปัจจุบัน สวนกล้วยไม้ของนายสมศักดิ์ ได้รับการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ในด้านการตลาด ได้จำหน่ายกล้วยไม้ผ่านพ่อค้าคนกลาง ปากคลองตลาด และจัดช่อจำหน่ายหน้าสวน รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่และผู้ที่สนใจ