อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศลุยเอง ลงพื้นที่จับผู้นำเข้า”มันเส้น”ไม่ได้มาตรฐานคาด่าน

“รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ” อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ลงพื้นที่ตรวจสอบการนำเข้ามันเส้นด่านชายแดน จับได้คาหนังคาเขา 2 ราย รวมจับได้ล่าสุด 6 ราย สั่งแบนห้ามนำเข้าทันที รวมทั้งหมดจับได้แล้ว 9 ราย ย้ำจะเดินหน้าตรวจสอบต่อเนื่อง ไม่ให้ใครทำลายชื่อเสียงมันสำปะหลังของไทย  

63be8b23d3c4d
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศลุยเอง ลงพื้นที่จับผู้นำเข้า”มันเส้น”ไม่ได้มาตรฐานคาด่าน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10–11 ม.ค.2566 ได้เดินทางไปที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน จ.สระแก้ว และจุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นด่านนำเข้ามันเส้นที่สำคัญของไทย หลังจากได้รับรายงานว่าจะมีการนำเข้ามันเส้นไม่ได้มาตรฐานในช่วงนี้จึงได้ไปให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สายตรวจของกรมฯ ที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ และได้กำชับให้ตรวจการนำเข้ามันเส้นอย่างเข้มงวด ซึ่งขณะที่ลงพื้นที่ ณ จุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน และจุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด ได้ตรวจพบผู้นำเข้ามันเส้นที่ไม่ได้มาตรฐาน 2 ราย และในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่สายตรวจของกรมฯ ได้ตรวจพบอีก 1 ราย ที่ด่านศุลกากรช่องจอม จ.สุรินทร์ ส่วนก่อนหน้าที่ตนจะลงพื้นที่เพียงหนึ่งวัน เจ้าหน้าที่สายตรวจ ก็เพิ่งตรวจพบผู้นำเข้ามันเส้นที่ไม่ได้มาตรฐาน 3 ราย รวมเป็น 6 ราย ที่ตรวจพบตั้งแต่หลังปีใหม่เป็นต้นมา จึงได้สั่งแบนผู้นำเข้าดังกล่าวทันที

โดยก่อนหน้านี้ กรมฯ ได้สั่งแบนผู้นำเข้ามันเส้นไป 3 ราย เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว โดยผู้นำเข้ามันเส้นที่ไม่ได้มาตรฐาน จะถูกลงโทษด้วยการพักทะเบียนจนกว่าจะนำมันเส้นที่ถูกตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐานไปปรับปรุงจนได้มาตรฐานตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด จึงจะสามารถกลับมานำเข้าได้

“การตรวจมาตรฐานมันเส้นนำเข้าในปี 2566 จะมีความเข้มข้นตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่ให้กรมฯ ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับมาตรฐานมันเส้นนำเข้าและส่งออก จับมือกับกรมการค้าภายใน ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมการขนย้ายมันเส้นจากต้นทางถึงปลายทาง เพื่อคุมเข้มมันเส้นที่นำเข้าตามแนวชายแดน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังเมื่อช่วงปลายปี 65 โดยผลที่ออกมาถือว่าเป็นประโยชน์มาก การประสานงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างทั้งสองกรมฯ ทำให้เจ้าหน้าที่ ๆ ลงพื้นที่ มีข้อมูลเชิงลึก ส่งผลให้ปฏิบัติงานได้ตรงเป้ามากขึ้น แม้ภารกิจของทั้งสองกรมฯ จะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ ต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามกฎกติกาที่วางไว้ เพื่อให้อุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งสุดท้ายแล้วประโยชน์ก็จะตกอยู่ที่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังและผู้ส่งออกของไทย”นายรณรงค์กล่าว

นายรณรงค์ กล่าวว่า การคุมเข้มมาตรฐานมันเส้นนำเข้าจะดำเนินการควบคู่ไปกับการคุมเข้มมาตรฐานมันเส้นส่งออก ซึ่งจะเป็นไปอย่างเข้มข้นตลอดฤดูเก็บเกี่ยว คือ ตั้งแต่เดือนพ.ย.2565 ถึงต้นเดือนเม.ย.2566 และขอยืนยันว่ากรมฯ จะไม่ยอมให้ผู้ประกอบการไม่กี่ราย กระทำเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศไทย ในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกมันเส้นที่ได้รับการยอมรับในตลาดโลก ในเรื่องของมาตรฐานสินค้าอย่างเด็ดขาด จึงขอเตือนผู้ประกอบการทั้งนำเข้าและส่งออกให้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ หากยังพบผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง กรมฯ จะต้องมีการพิจารณายกระดับมาตรการลงโทษให้หนักขึ้น เพื่อระงับยับยั้งการกระทำความผิดที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพมาตรฐานมันเส้นของไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการแปรรูปที่ใกล้ตัวมากที่สุด คือ การทำมันเส้น เมื่อเก็บเกี่ยวหัวมันสดแล้วก็จะนำส่งลานมันซึ่งเกษตรกรบางรายมีลานของตัวเอง ก็จะทำการแปรรูป โดยใช้ เครื่องตัดหัวมันเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปตากบนลาน ซึเมนต์ เมื่อแห้งดีแล้วก็ทำการเก็บ เพื่อส่งขายเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ หรือ อุตสาหกรรมสัตว์ หรืออุตสาหกรรมมันอัดเม็ดต่อไป ปกติมันสำปะหลัง 2.5 กิโลกรัม จะผลิตเป็น มันเส้นได้ 1 กิโลกรัม 

สำหรับขั้นตอนการทำ “มันเส้น” (Chip)โดยละเอียดมีดังนี้

-นำหัวมันสำปะหลังสดหั่นให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไป ตากแดดบนลานซีเมนต์ 2 – 3 วัน ให้แห้ง

– ทำความสะอาดสิ่งเจือปนที่ติดมากับหัวมัน

– นำหัวมันที่สะอาดแล้วใส่เครื่องป้อน (กรณีที่ใช้เครื่องป้อน) หรือใส่เครื่องตัดหรือมีดหั่นเป็นชิ้น ๆ

-นำชิ้นหัวมันที่หั่นแล้วไปตากแดดบนลานคอนกรีต (ลานตาก) หรือพื้นที่ปูด้วยวัสดุ เช่น เสื่อ ตะแกรงไม้ไผ่

-ระหว่างการตากแดดจะต้องใช้คราดกลับ มันเส้น ทุก ๆ 1 – 2 ชั่วโมง อาจใช้คนงาน หรือรถแทรกเตอร์ก็ได้ เมื่อมันเส้นแห้งดีแล้วก็ส่งขายต่อไป