แจ้งข่าวดี อินโดนีเซียรับจด GI “ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง-ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้”

“พาณิชย์”แจ้งข่าวดี อินโดนีเซียรับจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ข้าวไทย 2 รายการ “ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง” และ “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” ตอกย้ำข้าวไทยมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และจะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออก เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้มากขึ้น
         

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้ประกาศรับจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ข้าวไทยเพิ่มอีก 2 รายการ ได้แก่ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง และข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ต่อจากสินค้าผ้าไหมยกดอกลำพูนที่ได้รับจด GI ในอินโดนีเซียเมื่อปี 2559 ซึ่งจะช่วยตอกย้ำคุณภาพข้าวไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และจะช่วยขยายตลาดการส่งออกข้าวชนิดดังกล่าวของไทยเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซียได้ดีขึ้น และช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรท้องถิ่นที่เพาะปลูกข้าวทั้ง 2 ชนิดได้เพิ่มขึ้น
         

1519270349 1510983473 0.png 525x350 1
ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เดินหน้าส่งเสริมการจดทะเบียนสินค้า GI ในต่างประเทศ โดยถือเป็นนโยบายสำคัญที่มุ่งมั่นดำเนินการ เพื่อสร้างโอกาสให้สินค้า GI ไทยได้รับความคุ้มครองในตลาดส่งออกสำคัญ และช่วยผลักดันมูลค่าการตลาดให้สูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา สามารถผลักดันสินค้า GI ไทยได้รับการจดทะเบียนในต่างประเทศแล้ว รวม 8 รายการ ครอบคลุมกว่า 30 ประเทศ ทั้งสหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และเวียดนาม สินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ผ้าไหมยกดอกลำพูน มะขามหวานเพชรบูรณ์ และลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน

1510990481 1.png 530x350 1
ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้

“กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันการจดทะเบียนสินค้า GI ซึ่งเป็น Soft Power ของไทยที่มีศักยภาพ ให้ได้รับความคุ้มครองในต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า GI เกษตรและอาหาร เช่น ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ในจีน กาแฟดอยช้างและกาแฟดอยตุง ในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น”นายสินิตย์กล่าว

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง มีลักษณะเด่น คือ เมล็ดข้าวเรียวเล็ก อ่อนนุ่ม และมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ข้าวกล้องมีสีแดงจนถึงแดงเข้ม ข้าวสารมีสีขาวปนแดงหรือสีชมพู ในแต่ละปีมีปริมาณการผลิตมากกว่า 8,000 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรในท้องถิ่นกว่า 104 ล้านบาท ส่วนข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มีลักษณะเด่นคือ เมล็ดข้าวยาวเรียวและไม่มีหางข้าว เมื่อหุงสุกจะมีกลิ่นหอมและนุ่ม ปลูกในพื้นที่ 5 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร ในแต่ละปีมีปริมาณการผลิตกว่า 24,500 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรในท้องถิ่นกว่า 266 ล้านบาท  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ( Sangyod Maung Phatthalung Rice ) หมายถึงข้าวเจ้าพันธุ์สังข์หยด เป็นข้าวเจ้าพื้นเมืองพันธ์เบา ข้าวนาสวนไวต่อช่วงแสง ปลูกฤดูนาปีในเขตพื้นที่จังหวัดพัทลุง ข้าวเปลือกมีเปลือกสีฟาง ข้าวกล้องมีสีแดงจนถึงแดงเข้มในเมล็ดเดียวกัน  ข้าวสารเป็นข้าวที่มีเมล็ดสีขาวปนแดงหรือสีชมพู รูปร่างเรียวเล็ก

ส่วน“ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” ( Thung Kula Rong-Hai Thai Hom Mali Rice : TKR ) หมายถึง ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว ที่แปรรูปมาจากข้าวเปลือกพันธุ์ข้าวหอมที่ไวต่อช่วงแสง คือ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15 ซึ่งปลูกใน พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ในฤดูนาปี และมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ ข้าวเปลือกมีสีฟาง เมล็ดข้าว ยาว เรียว และเมล็ดไม่มีหางข้าว เมล็ดข้าวที่ผ่านการสีแล้ว จะมีความเลื่อมมัน จมูกข้าวเล็ก เมื่อหุงแล้วจะมีกลิ่นหอมและนุ่ม มีความยาวมากกว่า 7.0 มิลลิเมตร สัดส่วนความยาวต่อความกว้าง มากกว่า 3.2 มีท้องไข่ น้อยกว่าร้อยละ 6