“มนัญญา” เดินหน้าทวงราคามะพร้าวคืนให้เกษตรกรไทยหลังพบราคาตก

          นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาราคาผลมะพร้าวตกต่ำ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศรายงานว่า มียอดนำเข้ามะพร้าว ตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ย. 2565 ตามกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน ASEAN Free Trade Area (AFTA) และองค์การการค้าโลก (World Trade Organization (WTO) รวม 130,000 ตัน โดยเป็นการนำเข้าตาม 2 กรอบดังกล่าว รวม 7,000 ตัน ที่เหลือเป็นการนำเข้านอกกรอบ WTO ที่เสียภาษีร้อยละ 54 นอกจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รายงานว่า มียอดตัวเลขนำเข้าน้ำกะทิจากต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ทำอาหารและอื่น ๆ ผ่าน อย. ปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยเมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจเรื่องการปนเปื้อน หรือเชื้อโรคและสารตกค้างตามกฎหมายอาหารและยาแล้ว อย. ไม่มีอำนาจในการติดตามปลายทางของสินค้าดังกล่าว จึงไม่ทราบว่ากะทิเหล่านั้นถูกนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ใดบ้าง

         

660100005675
มนัญญา ไทยเศรษฐ์

“แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการลดการพึ่งพาผลผลิตของเกษตรกรภายในประเทศ จึงมีการนำเข้ามะพร้าวผลและน้ำกะทิ เพื่อมาเป็นวัตถุดิบหรือสินค้าจำหน่ายในประเทศและส่งออกจึงส่งผลกระทบต่อราคามะพร้าวของเกษตรกรไทยโดยตรง อีกทั้ง ภาคเอกชนยอมเสียภาษีนำเข้ามะพร้าวนอกโควต้าเพื่อเลี่ยงการปฏิบัติตามเงื่อนไขของคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช เช่น การกะเทาะเปลือกในโรงงาน เป็นต้น ดังนั้น การกำหนดโควต้านำเข้ามะพร้าวของ คกก.พืชน้ำมันฯ แต่ละปี จึงอาจไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้ง จะเห็นว่าขณะนี้ราคามะพร้าวขูดสำหรับทำกะทิในท้องตลาด อยู่ที่ 70 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคารับซื้อมะพร้าวผลจากชาวสวน อยู่ที่ 5 – 12 บาทต่อผล จึงเป็นคำถามว่า ส่วนต่างของราคานี้หายไปไหน แต่เอกชนกลับไปนำเข้าน้ำกะทิปีละ 3,000 ล้านบาท และยอมเสียภาษีนอกโควต้า WTO ร้อยละ 54 ทำไมเราไม่ช่วยกันซื้อมะพร้าวภายในประเทศ และให้ราคาที่เหมาะสมกับเกษตรกร เพื่อให้เงินเหล่านี้กลับไปอยู่ในมือเกษตรกร ต่างกับราคาน้ำมันพืชที่ไม่เคยตกเลย ดังนั้นต้องมาบูรณาทำงานร่วมกันเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา และให้เกษตกรรได้ราคาผลผลิตที่เป็นธรรม” รมช.มนัญญา กล่าว

        

coconut 1036198 960 720 1
มะพร้าว

นอกจากนั้น รมช.มนัญญา ยังได้กำชับให้กรมวิชาการเกษตรตรวจมะพร้าวที่มีการนำเข้าทั้งในและนอกโควต้า 100% จากเดิมที่เป็นการสุ่มตรวจ รวมถึงรวบรวมข้อมูลการขอนำเข้าว่ามีทั้งหมดกี่บริษัท ปริมาณเท่าไหร่อย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ รมช.มนัญญา ได้เคยให้สัมภาษณ์ถึงปัญหามะพร้าวราคาตกว่า จากการลงพื้นที่ประชุมหารือร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวและตัวแทนเครือข่ายชาวสวนมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนด้านการผลิต ราคา การตลาด และการนำเข้า – ส่งออกมะพร้าวของไทย เกษตรกรได้ร้องเรียนว่าปัจจุบันราคามะพร้าวตกต่ำ โดยราคาจำหน่ายอยู่ที่ 5 บาทต่อผล จึงไม่ได้จ้างเก็บมะพร้าวเพราะไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต ซึ่งตรงกับข้อมูลที่ สศก. รายงานว่า ต้นทุนเฉลี่ยการผลิตมะพร้าวอยู่ที่ 7 บาทต่อผล ดังนั้น จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไข และพบว่า มีการนำเข้ามะพร้าวนอกโควต้าจำนวน 130,000 ตัน โดยเอกชนยอมเสียภาษีนอกโควต้า ร้อยละ 54 เพื่อเลี่ยงการปฏิบัติตามเงื่อนไขของการอนุญาตนำเข้าตามโควต้า 

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการนำเข้ากะทิสดจากต่างประเทศ ผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ซึ่งทาง อย. จะตรวจตามอำนาจของกฎหมาย อย. คือเรื่องการปนเปื้อนความสะอาดและโรงงานที่ผลิตต้องได้มาตรฐานอาหาร และไม่จำกัดปริมาณนำเข้า ซึ่งในกรณีของ อย. นั้นไม่ได้ถูกนำมาคำนวณเป็นปริมาณผลผลิตมะพร้าวตามความต้องการใช้ในประเทศ โดยคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช จะนำมาพิจารณากำหนดออกมาเป็นสัดส่วนโควต้าให้นำเข้ามะพร้าวในแต่ละปี จึงมีผลให้กระทบกับราคาผลผลิตมะพร้าวในประเทศทางอ้อมอย่างมีนัยยะสำคัญ นอกจากนั้นยังพบว่า กรณีถ้าเป็นโรงงานผลิตมะพร้าวที่ขอส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะยังได้สิทธิ์ในการขอคืนภาษีจากการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศอีกด้วย ดังนั้นน่าจะเป็นประเด็นที่ คกก.พืชน้ำมันฯ น่าจะต้องนำมาพิจารณาประกอบว่าจะช่วยเหลือชาวสวนมะพร้าวอย่างไร
     

“ได้มอบหมายให้นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ทำหนังสือตามข้อสังเกตนี้ ถึง สศก. นำเสนอต่อ คกก.พืชน้ำมันฯ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อพิจารณาและร่วมกันแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกกระทรวงที่มีการนำเข้าสินค้าเกษตรทั้งแปรรูปและไม่แปรรูป ต้องมีการบูรณาการการทำงานและข้อมูลร่วมกัน เพื่อให้ทราบได้ว่าสินค้าที่นำเข้าแต่ละชนิดจะกระทบกับเกษตรกรซึ่งเป็นปลายทางอย่างไร นอกจากนั้น กรณีมะพร้าวที่มีการนำเข้าทั้งในโควต้าและนอกโควต้านั้นได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรเข้มงวดตรวจสอบ 100% ทุกตู้ และให้ อย.รวบรวมตัวเลขปริมาณน้ำกะทิที่ขออนุญาตนำเข้าต่อปี เพื่อเสนอต่อ คกก.พืชน้ำมันฯ พิจารณาโดยเร็ว “