นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่” นับเป็นสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพการผลิตในพื้นที่ เป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดนครราชสีมา โดยล่าสุดได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งทุเรียนปากช่องเขาใหญ่พบปลูกในพื้นที่อำเภอปากช่องตั้งอยู่บนเทือกเขาดงพญาเย็น ซึ่งดินบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับสภาพอากาศที่เหมาะสม ซึ่งเป็นแหล่งโอโซนอันดับ 7 ของโลก ส่งผลให้ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ มีรสชาติหวาน มัน เนื้อเนียนละเอียดแห้ง มีเส้นใยน้อย กลิ่นหอมอ่อน และมีสีเหลืองอ่อนสม่ำเสมอทั้งผล โดยผลผลิตจะออกตลาดให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลองช่วงกลางปีนี้
ปัจจุบันการปลูกทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ มีพื้นที่ปลูกอยู่ในเขตอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ครอบคลุม 4 ตำบล ได้แก่ หนองน้ำแดง ปากช่อง กลางดง และคลองม่วง เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกพันธุ์หมอนทอง ซึ่งเป็นพันธุ์การค้า และเป็นที่นิยมของผู้บริโภค
นอกจากนี้ยังพบว่าเกษตรกรในพื้นที่อำเภอปากช่อง ได้มีการรวมกลุ่มและจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 2 แห่ง คือ กลุ่มวิสาหกิจทุเรียนคลองม่วงและกลุ่มวิสาหกิจทุเรียนและพืชสวน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม ได้มีส่วนผลักดันและพัฒนาคุณภาพให้ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ได้รับมาตรฐาน GAP และได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563
สศท.5 ได้ศึกษาวิจัยการผลิตและการตลาดทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ โดยลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ GI ของวิสาหกิจทุเรียนคลองม่วง และกลุ่มวิสาหกิจทุเรียนและพืชสวน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง และประสบความสำเร็จ จากการติดตาม พบว่า ในปีแรกของการลงทุนเกษตรกร ทั้ง 2 กลุ่ม มีต้นทุนเฉลี่ย 12,221 บาท/ไร่/ปี ประกอบด้วย ค่าเตรียมดิน ค่าปลูก ค่าต้นพันธุ์ ค่าดูแลรักษา และอื่นๆ ปีที่ 2 – 4 ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 8,915 บาท/ไร่/ปี ต้นทุนลดลงเนื่องจากเกษตรกรไม่ต้องจ่าย ค่าเตรียมดิน ค่าปลูก และค่าต้นพันธุ์
และเมื่อเข้าสู่ปีที่ 5 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มให้ผลผลิตจะมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 17,851 บาท/ไร่/ปี ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการบำรุงรักษาต้นอย่างพิถีพิถัน และมีค่าแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเกษตรกรนิยมปลูกในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของต้นกล้า เริ่มติดดอกช่วงเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ เกษตรกรจะทำการเก็บเกี่ยวเมื่อทุเรียนมีอายุที่เหมาะสมประมาณ 120 – 135 วัน (นับจากวันดอกบานจนถึงวันที่ผลแก่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้) โดยผลผลิตออกตลาดช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม ให้ผลผลิตเฉลี่ย 665 กิโลกรัม/ไร่ (ทุเรียน 1 ลูก มีน้ำหนักประมาณ 3 – 5 กิโลกรัม) ผลตอบแทนเฉลี่ย 112,194 บาท/ไร่/ปี เกษตรกรได้รับกำไร 94,343 บาท/ไร่/ปี
ด้านราคาขายทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ GI (เกรดคละ) ราคาเฉลี่ยของปี 2565 อยู่ที่ 168.65 บาท/กิโลกรัม ซึ่งราคาจะสูงกว่าทุเรียนทั่วไปตามท้องตลาด (เกรดคละ) ที่มีราคาเฉลี่ย 148.13 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ GI มีกระบวนการผลิตตามมาตรฐาน GAP พร้อมส่งตรงถึงมือผู้บริโภคทุกลูก และมีการรับประกันคุณภาพสินค้า
ด้านสถานการณ์ตลาดทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ GI ของทั้ง 2 กลุ่ม พบว่า เกษตรกรเป็นผู้จำหน่ายผลผลิตเองทั้งหมดโดยผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 57 จำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง แบ่งเป็น จำหน่ายที่หน้าสวน จำหน่ายตลาดในพื้นที่ และจำหน่ายออนไลน์ ส่วนผลผลิตอีกร้อยละ 43 จำหน่ายให้กับพ่อค้าผู้รวบรวมที่มารับซื้อผลผลิตที่หน้าสวน โดยพ่อค้านำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในประเทศและส่งออกไปยังตลาดประเทศจีน
“ปริมาณผลผลิตทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ GI ที่เกษตรผลิตได้ในแต่ละปีมีจำกัด ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งมียอดออเดอร์ล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก จึงนับว่าการปลูกทุเรียนเป็นอีกสินค้าในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทำให้ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจข้อมูลเชิงลึกของผลการวิจัยการผลิตและการตลาดทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.5 โทร 0 4446 5120 อีเมล [email protected] หรือ หากสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตและตลาดทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ GI ของกลุ่มวิสาหกิจทุเรียนคลองม่วง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายเชิดชัย โล้กูลประกิจ โทร 081 266 0359 และกลุ่มวิสาหกิจทุเรียนและพืชสวน สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายมาโนช รูปสมดี โทร 094 516 6864” ผู้อำนวยการ สศท.5 กล่าวทิ้งท้าย