เปิดแผนรับมือ“พืชสามหัว” ปี 2566 ซื้อล่วงหน้า 2.28 หมื่นตันผ่าน“อมก๋อย โมเดล” คาดผลผลิตพืชสามหัวปี 66 จะมีปริมาณ 257,135 ตันเพิ่มขึ้น 5-10% เมื่อเทียบกับผลผลิตปี 65

ผลพวงจากนโยบาย“ตลาดนำการผลิต”ของรัฐบาลผ่านโครงการ“อมก๋อย โมเดล”ที่ริเริ่มโดยนายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เริ่มเห็นแสงสว่างจากปลายอุโมงค์สำหรับ“พืชสามหัว” ซึ่งประกอบด้วย หองแดง กระเทียมและหอมหัวใหญ่ โดยการขับเคลื่อนของกรมการค้าภายใน ภายใต้หัวเรือใหญ่อธิบดี“วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม”ที่สนองนโยบายทำงานแบบมุ่งเป้าภาพเกษตรกรปิดถนนประท้วงหรือการนำผลผลิตมากองรวมกันแล้วเผาทิ้ง เป็นภาพที่เห็นจนชินตาในอดีตเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว

11010
หอมหัวใหญ่

มาวันนี้เหตุการณ์เหล่านั้นไม่มีอีกแล้ว กลับมีแต่ภาพรอยยิ้มปลื้มปลิ่มของเกษตรกรผู้ปลูกหอมและกระเทียมหลังผลผลิตราคาดีและมีตลาดรองรับชัดเจน

11011
แผนรับมือ“พืชสามหัว” ปี 2566

จากจุดเริ่มต้น“อมก๋อย โมเดล”นโยบายที่เจ้ากระทรวงนำมาใช้ในการแก้ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำในสินค้า 4 กลุ่มและหนึ่งในนั้นคือพืชสามหัว โดยเริ่มจากการนำผู้ประกอบการเดินทางไปรับซื้อถึงแหล่งผลิตจากกลุ่มเกษตรกรโดยตรงพร้อมทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าในราคานำตลาด

จากนั้นมีการดำเนินมาอย่างต่อเนื่องทุกปีโดยกรมการค้าภายใน นับตั้งแต่นโยบายอมก๋อยโมเดลเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 ผลจากการขับเคลื่อนทำงานแบบมุ่งเป้าของอธิบดีจึงเริ่มเห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นในวันนี้

“เมื่อก่อนแค่ลงนามเอ็มโอยู (MOU) ถ่ายภาพแล้วก็จบ ตอนนี้ไม่ใช่มันต้องเซตเลยผู้ประกอบการที่ร่วมกับเราต้องซื้อในราคานี้ รายใดมีปัญหาตลาดมีไม่พอ กรมก็จะช่วยจัดหาตลาดปลายทางให้เพิ่มเช่น ร้านอาหารธงฟ้า ร้านค้าธงฟ้า ปั้มน้ำมัน รถโมบายพาณิชย์ ห้างท้องถิ่น พวกนี้เป็นเอ้าเล็ตของเรา แต่คุณต้องซื้อผลผลิตในราคานำตลาด มันก็จะวิน ๆ ทุกฝ่าย ผู้ประกอบการได้ตลาดเพิ่ม เกษตรกรก็ขายได้ราคา”

นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายในเผยต่อว่า จากการตรวจสอบราคาพืชสามหัวปีนี้ (2566) เมื่อเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า ณ เวลานี้ราคาปรับเพิ่มขึ้นทุกตัว โดยปีที่แล้ว (2565) หอมหัวใหญ่ราคาอยู่ที่ 12 บาท/กิโลกรัม ปีนี้เพิ่มเป็น 16 บาท/กิโลกรัม ส่วนหอมแดง 9 บาท/กิโลกรัม เพิ่มเป็น 13 บาท/กิโลกรัม และกระเทียมปีที่แล้ว 13 บาท/กิโลกรัม ปีนี้เพิ่มเป็น 14.5-15.0 บาท/กิโลกรัมซึ่งราคาปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20-30%

“ช่วงนี้อยู่ในต้นฤดูกาลราคายังสูง แต่เพื่อความมั่นใจในเรื่องราคาช่วงผลผลิตออกชุก 3 เดือนจากนี้ไปคือกุมภาพันธ์ มีนาคมและเมษายน เราจำเป็นต้องเข้าไปซื้อผลผลิตล่วงหน้าซึ่งในปี 66 คาดว่าผลผลิตจะมีประมาณ 257,135 ตัน โดยใช้มาตรการอมก๋อยโมเดล ซึ่งปีที่แล้ว (2565) เราทำไปประมาณ 9,000 ตัน ส่วนปีนี้ (2566) จะทำเพิ่มเป็น 22,800 ตัน โดยแบ่งเป็นหอมหัวใหญ่ 7,300 ตัน หอมแดง 7,500 ตันและกระเทียม 8,000 ตัน” รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าว

อย่างไรก็ตามจากการคาดการณ์ของกรมการค้าภายในปริมาณผลผลิตพืชสามหัวในปี 2566 นี้จะมีปริมาณ 257,135 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 5-10% เมื่อเทียบกับผลผลิตปีที่แล้ว(2565) อยู่ที่ 233,808 ตัน โดยแบ่งเป็นหอมหัวใหญ่ 36,479 ตัน หอมแดง 155,765 ตันและกระเทียม 64,891 ตัน โดยแหล่งเพาะปลูกใหญ่อยู่ในพื้นที่ทางภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา ลำปาง แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์และภาคอีสานบางจังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ ซึ่งแหล่งปลูกหอมแดงคุณภาพระดับจีไอ (GI)

นายกรนิจ กล่าวถึง มาตรการบริหารจัดการพืชสามหัว นอกจากให้เป็นไปตามกลไกตลาดปกติแล้ว ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในก็จะเข้าไปดูแล ทั้งการจัดการผลผลิตในประเทศและมาตรการทางกฎหมายควบคู่กันไป โดยการจัดการผลผลิตในประเทศนั้น ประกอบด้วย 1.การกระจายออกนอกพื้นที่จากแหล่งผลิตและการเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง 2.การเก็บสต๊อก 3.อมก๋อยโมเดล 4.รถเร่หรือโมบายพาณิชย์ และ 5.สถานบริการน้ำมัน ได้แก่ ปตท. บางจาก พีที และเชลล์

ส่วนมาตรการทางกฎหมายจะดำเนินการกับผู้กระทำผิดในอัตราโทษสูงสุด เนื่องจากพืชสามหัวบางตัวเป็นสินค้าควบคุม ขนย้ายต้องแจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ แสดงราคารับซื้อและจำหน่ายปลีกอย่างชัดเจนพร้อมตรวจสอบสำแดงราคานำเข้า(เทียบกับราคาจำหน่ายกระเทียมในจีน) ตลอดจนการสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าโดยร่วมกับฝ่ายความมั่นคง กอ.รมน. ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ในการจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในอัตราโทษสูงสุด จำคุก 5 ปีปรับ1 แสนหรือทั้งจำทั้งปรับ

“ปีที่แล้วจับกุมผู้กระทำผิดได้ 12 ราย เป็นการขนย้ายไม่ตรงตามหนังสืออนุญาต 9 รายและไม่มีหนังสืออนุญาตขนย้าย 3 ราย หากพบเบาะแสการกระทำผิดโทรแจ้ง 1569 กรมการค้าภายใน” รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ย้ำทิ้งท้าย