การขนส่งสินค้าทางรถไฟ โซลูชัน(ไม่)ใหม่ระหว่างจีนกับอาเซียนและ‘ทางเลือกสำรอง’ในฤดูกาลผลไม้ไทยที่จะมาถึง

ปัจจุบัน รถไฟได้กลายเป็นหนึ่งใน ‘ทางเลือก’ ของผู้ประกอบการในการขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมี “รถไฟจีน-เวียดนาม” เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าสายแรกของจีนกับอาเซียน เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2550 ช่วงเริ่มต้นใช้เพื่อการขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์และพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ จนสามารถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เย็น (Reefer) ในปัจจุบัน

การขนส่งสินค้าด้วยขบวนรถไฟดังกล่าวมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งสินค้าเกษตร (ผลไม้ ไม้ซุง ยาสมุนไพรจีน) สินค้าอุตสาหกรรม (อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มอเตอร์ ปุ๋ยเคมี สังกะสีออกไซด์ กระจก เครื่องจักรทางการเกษตร ชิ้นส่วนยานยนต์) รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน (เกลือ เบียร์ กระดาษ สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ที่ทำจากพลาสติก)

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 เที่ยวขบวนแรกรับปีเถาะของ “รถไฟจีน-เวียดนาม” ซึ่งลำเลียงสินค้าตรุษจีนไปเวียดนาม อาทิ เห็ดหูหนูดำ ลูกกวาด บิสกิต เบียร์ และของใช้ในชีวิตประจำวัน ได้ออกจากท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง ผ่านด่านรถไฟผิงเสียง โดยมีสถานีปลายทางอยู่ที่สถานี Yên Viên ในกรุงฮานอยของเวียดนาม (ใช้เวลา 1 วัน) โดยมีบริษัท Nanning Donglian Supply Chain Service Co.,Ltd. (南宁东联供应链服务有限公司) เป็นผู้ให้บริการ (เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 เที่ยวขบวน)

ตามรายงาน ปี 2565 ที่ผ่านมา “รถไฟจีน-เวียดนาม” วิ่งให้บริการรวม 265 เที่ยวขบวน คิดเป็นปริมาณสินค้าน้ำหนัก 2.481 แสนตัน เพิ่มขึ้น 90.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) และสินค้าส่งออก 4.766 แสนตัน เพิ่มขึ้น 27.63% (YoY) โดยทั่วเขตฯ กว่างซีจ้วงมีจุดรวมสินค้าสำหรับรถไฟจีน-เวียดนามมากกว่า 20 แห่ง

การบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน (การรถไฟ ศุลกากร และภาคเอกชน) ช่วยให้การขนส่งสินค้าทางรถไฟมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำระบบขนส่งด้านศุลกากร (Customs Transit System) ไปใช้ที่ “ด่านรถไฟผิงเสียง” เป็นที่แรกในจีน ระบบเชื่อมโยงข้อมูลของการรถไฟกับศุลกากร (95306 Digital Port) และระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ (e-Customs) ทำให้ผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้าทางรถไฟประหยัดได้ทั้งเวลาและต้นทุนค่าใช้จ่าย

ขณะที่ด่านรถไฟผิงเสียงเอง ได้รับประโยชน์ในแง่ของการยกระดับศักยภาพของระบบโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศทางรถไฟ สามารถวางแผนและบริหารจัดการด้านการขนถ่ายสินคาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดความแออัดของสินค้าในด่านรถไฟผิงเสียง การเคลื่อนย้ายสินค้าทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงปัญหาการคั่งค้างของตู้สินค้าในด่านรถไฟ ทำให้ขบวนรถไฟมีความปลอดภัยและตรงเวลา

2021 06 02 1
ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง

สำหรับผู้ประกอบการไทย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน เห็นว่า การขนส่งสินค้าทางรถไฟผ่าน “ด่านรถไฟผิงเสียง” และ “ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” ในเขตฯ กว่างซีจ้วง เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยสินค้าที่ลำเลียงผ่านขบวนรถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนาม สามารถลำเลียงต่อไปที่ ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” เพื่อกระจายต่อไปยังพื้นที่อื่นทั่วประเทศจีนด้วยวิธีการ (1) การขนถ่ายขึ้นรถบรรทุก (2) การใช้โครงข่ายรถไฟในจีนเพื่อกระจายต่อไปยังหัวเมืองเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะเมืองสำคัญในภาคตะวันตก และ (3) การใช้โครงข่ายรถไฟ China- Europe Railway เพื่อลำเลียงสินค้าไปเจาะตลาดเอเชียกลาง และยุโรปได้ด้วย

%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81
ผลไม้ไทย

กระบวนการขนส่งสินค้าไทยไปจีนด้วยขบวนรถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนาม (ขาขึ้น) จะเป็นโมเดลการขนส่ง “รถ+ราง” โดยรถบรรทุกจากภาคอีสานไทย โดยสำหรับ “ตู้สินค้าทั่วไป” จะเปลี่ยนยานพาหนะจากรถบรรทุกขึ้นรถไฟที่สถานี Yên Viên ในกรุงฮานอย เพื่อลำเลียงผ่านสู่เขตฯ กว่างซีจ้วง ขณะที่ “ผลไม้ไทย” จะวิ่ง ผ่านกรุงฮานอยไปขึ้นรถไฟที่สถานี Đồng Đăng จังหวัด Lang Son ก่อนจะวิ่งเข้าสู่เขตฯ กว่างซีจ้วง และกระจายต่อไปยังพื้นที่ในประเทศจีน หรือต่อขยายไปยังเอเชียกลางและยุโรปผ่าน China-Europe Railway Express

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีศึกษาความสำเร็จของการขนส่งสินค้าทางรถไฟเส้นใหม่เชื่อม “เวียดนาม – จีน – คาซัคสถาน (เอเชียกลาง)” เที่ยวปฐมฤกษ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เมื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากเวียดนามขึ้นรถไฟเที่ยวขบวนที่ 75140 ออกจากสถานี Đồng Đăng (เวียดนาม) ผ่านเข้าประเทศจีนที่สถานีรถไฟผิงเสียง (เขตฯ กว่างซีจ้วง) เพื่อไปสมทบและเปลี่ยนขบวน China-Europe Railway Express ที่สถานีนานาชาติซีอาน (มณฑลส่านซี) และออกจากประเทศจีนที่อำเภอระดับเมือง Qorğas qalası (แคว้นปกครองตนเองชนชาติคาซัคอีหลี เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์) เพื่อไปยังเมืองอัลมาตี ประเทศคาซัคสถาน ซึ่งใช้เวลาขนส่งไม่ถึง 25 วัน (ทางเรือใช้เวลาขนส่งราว 50 วัน)

ข้อพิจารณาเพิ่มเติม นับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 ที่รัฐบาลจีนได้เริ่ม ‘ปลดล็อก’ มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในการนำเข้าสินค้าและการเดินทางเข้า-ออกนอกประเทศของจีน โดยด่านๆ ต่างได้พัฒนาโซลูชันการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อให้คนและรถสินค้าสามารถผ่านเข้า-ออกด่านได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19

จากสถานการณ์ข้างต้น ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประเมินว่า ผู้ประกอบการจะเริ่มกลับมาใช้การขนส่งสินค้าผ่าน ‘ด่านทางบก’ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ด่านโหย่วอี้กวาน สิ่งที่ตามมา คือ ความแออัดของรถบรรทุกจากปริมาณสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งเข้าใกล้ ‘ฤดูผลไม้ไทย’ ด้วยแล้ว ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน  เห็นว่า “รถไฟจีน-เวียดนาม” เป็น ‘ช่องทางสำรอง’ ที่ผู้ประกอบการสามารถพิจารณาและวางแผนเลือกใช้ในการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน(กว่างซี) เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายของผลไม้สดที่รอคิวหรือติดค้างอยู่นอกด่านโหย่วอี้กวานได้