ขึ้นทะเบียน GI “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” หนุนเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ชุมชน

พาณิชย์ ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” มั่นใจช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้า สร้างรายได้ให้ชุมชน และมีโอกาสส่งออกขายจีนและมาเลเซียเพิ่มขึ้น เผยราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 190 บาท สร้างรายได้ให้จังหวัดยะลากว่า 2,800 ล้านบาทต่อปี คาดหลังจากนี้ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกแน่  
         

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตัวใหม่ของจังหวัดยะลา โดยมั่นใจว่าด้วยรสชาติและกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร จะช่วยให้ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค และส่งผลดีต่อการส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนเเละมาเลเซีย ซึ่งสอดรับกับนโยบายสร้างความเข้มเเข็งเศรษฐกิจชุมชนไทย กระจายรายได้สู่เกษตรกรรายย่อยที่กระทรวงพาณิชย์ผลักดัน
         

%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3
ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา

สำหรับทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติที่โดดเด่น หวานมัน เนื้อเเห้ง ละเอียด เส้นใยน้อย มีกลิ่นเฉพาะตัวและเนื้อมีสีเหลืองอ่อนหรือเข้มตามแต่ละสายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ก้านยาว พันธุ์ชะนี พันธุ์พวงมณี พันธุ์มูซังคิง และพันธุ์หนามดำหรือโอฉี่ ปลูกได้ตลอดทั้งปี ปลูกบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งเเต่ 100 เมตรขึ้นไป ตามไหล่เขา สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.ของทุกปี ผนวกกับความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ที่ร่วมกันพัฒนาคุณภาพสินค้าเเละบรรจุภัณฑ์ จึงทำให้ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา เป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้สำคัญของยะลาถัดจากกล้วยหินบันนังสตาที่ได้ขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้

63e344e3632f9
ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา

“การขึ้นทะเบียน GI ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา ถือเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับสินค้าเกษตรไทยสู่สายตาชาวโลก และยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า สร้างงาน และรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจ ชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา มีราคาสูงถึง 190 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) สร้างรายได้ให้คนยะลามากถึง 2,800 ล้านบาทต่อปี และหลังขึ้นทะเบียน GI แล้ว คาดว่าจะสร้างรายได้มากกว่านี้อีก”นายสินิตย์กล่าว
         

ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนหรือชุมชนท้องถิ่นที่มีสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่มีคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์และมีคุณภาพ มีชื่อเสียง สามารถขอรับคำปรึกษาเพื่อยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI ได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 1368

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยง(Links)ระหว่างปัจจัยสำคัญสองประการ คือ ธรรมชาติและมนุษย์ กล่าวคือ ชุมชนได้อาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าในท้องถิ่นของตนขึ้นมา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่มาจากพื้นที่ดังกล่าว คุณลักษณะพิเศษนี้อาจหมายถึง คุณภาพ ชื่อเสียงหรือคุณลักษณะเฉพาะอื่น ๆ ที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้น ๆ

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ อาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยตรง (Direct Geographical Indication) เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้น ๆโดยตรง เช่น ไชยา เพชรบูรณ์ เป็นต้น

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยอ้อม (Indirect Geographical Indication) กล่าวคือ เป็นสัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ไม่ใช่ชื่อทางภูมิศาสตร์ ซึ่งใช้เพื่อบ่งบอกแหล่งภูมิศาสตร์อันเป็นแหล่งกำเนิดหรือแหล่งผลิตของสินค้า เช่น สัญลักษณ์ประจำอำเภอหรือจังหวัด รูปย่าโม รูปหอไอเฟล เป็นต้น

สินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มักจะเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยม เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษหรือมีลักษณะเฉพาะที่เกิดจากอิทธิพลสิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เช่น สภาพแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ ของแหล่งภูมิศาสตร์นั้น ๆ ตลอดจนทักษะความชำนาญและภูมิปัญญาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์นั้น ๆ ประกอบด้วย

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มีความแตกต่างจากทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น กล่าวคือ ผู้เป็นเจ้าของไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดแต่เป็นกลุ่มชุมชนที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้น ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตที่อาศัยอยู่ในสถานที่หรือแหล่งภูมิศาสตร์ และผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้นเท่านั้นที่มีสิทธิผลิตสินค้าดังกล่าวโดยใช้ชื่อทางภูมิศาสตร์นั้นได้ ผู้ผลิตคนอื่นที่อยู่นอกแหล่งภูมิศาสตร์จะไม่สามารถผลิต สินค้าโดยใช้ชื่อแหล่งภูมิศาสตร์เดียวกันมาแข่งขันได้ สิทธิในลักษณะดังกล่าวนี้นักวิชาการบางท่านเรียกว่า “สิทธิชุมชน” ซึ่งไม่สามารถนำสิทธิที่ได้รับไปอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้ต่อได้ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่แหล่งภูมิศาสตร์เท่านั้นที่มีสิทธิใช้