มณฑลยูนนานขึ้นแท่นแหล่งนำเข้าผลไม้ไทยอันดับ 2 ของจีนในปี 2565 กับโจทย์ท้าทายการนำเข้าผลไม้ไทยของ ยูนนาน ในปี 2566

ประเทศไทยถือเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของมณฑลยูนนานและติดอันดับประเทศคู่ค้า 10 อันดับแรกของมณฑลยูนนานมานานหลายปี โดยในปี 2565 ไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 5 ของมณฑลยูนนาน สูงขึ้นจากปี 2564 หนึ่งลำดับ มีมูลค่าการค้ารวม 2,352 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 18.1 แบ่งเป็นมูลค่าการนำเข้าจากไทยของยูนนาน 1,137 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.0 และมูลค่าการส่งออกไปไทยของยูนนาน 1,215 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1

สำหรับด้านการนำเข้าสินค้าจากไทยของมณฑลยูนนาน ในปี 2565 ไทยเป็นประเทศที่มณฑลยูนนานนำเข้าสินค้ามากที่สุดในลำดับที่ 7 และถือเป็นลำดับที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปี (ปี 2562-2564 อยู่ในลำดับที่ 10 ส่วนปี 2561 อยู่ในลำดับ 13 และปี 2560 อยู่ในลำดับ 16) โดยสินค้าที่มณฑลยูนนานนำเข้าจากไทยมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย ชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง เคมีภัณฑ์ แร่ดีบุก ส้มโอ ชิ้นส่วนเครื่องมือไฟฟ้าแบบพกพา พริก และยางพารา โดยสินค้าที่มีศักยภาพมากที่สุด ได้แก่ ผลไม้

ynll
ผลไม้ไทย

มณฑลยูนนานแหล่งนำเข้าผลไม้ไทยอันดับ 2 ของจีนในปี 2565

ผลไม้ถือเป็นสินค้าที่มณฑลยูนนานมีมูลค่าการนำเข้าจากไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 ติดต่อกันมานานหลายปี ส่วนใหญ่ขนส่งโดยใช้เส้นทาง R3A (ทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพฯ) ผ่านด่านโม่ฮาน ซึ่งเป็นด่านที่อยู่ในพิธีสารการนำเข้า-ส่งออกผลไม้ระหว่างไทย-จีนผ่านประเทศที่สาม ที่ผ่านมา มณฑลยูนนานนำเข้าผลไม้ไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงปี 2561-2562 ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศจีน

%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99 20
ทุเรียนไทย

ต่อมาในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนักในจีน ทำให้จีนดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด เช่น การปิดเส้นทางการจราจรระหว่างเมือง การลดการออกนอกบ้าน การห้ามรวมกลุ่มพบปะสังสรรค์ การงดเที่ยวบิน และการปิดร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภายในประเทศ รวมถึงมาตรการคุมเข้มของด่านโม่ฮานก็ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งและอุปสรรคการนำเข้าสินค้า ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงส่งผลให้ในปี 2563 ยูนนานนำเข้าผลไม้จากไทยลดลงถึงร้อยละ 23.1

%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%94 2 scaled
มังคุดไทย

อย่างไรก็ดี ในปี 2564 เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนค่อย ๆ ฟื้นตัว รวมถึงด่านโม่ฮานได้ปรับปรุงมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ให้เป็นระเบียบมากขึ้น ทำให้มณฑลยูนนานนำเข้าผลไม้จากไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 65.7 โดยมีมูลค่าการนำเข้า 679 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติสูงสุดตั้งแต่ปี 2557 หรือในรอบ 8 ปี และมีสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าผลไม้ไทยต่อมูลค่าสินค้าทั้งหมดที่ยูมณฑลนนานนำเข้าจากไทยสูงถึงร้อยละ 82 สูงสุดในรอบ 5 ปี (ปี 2560-2564)

สำหรับในปี 2565 มณฑลยูนนานนำเข้าผลไม้จากไทย 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.6 แม้ในบางช่วงจะเกิดปัญหาการตรวจพบเชื้อโรคโควิด-19 บนสินค้าผลไม้ไทยที่ด่านโม่ฮาน แต่ปริมาณรถเข้า-ออกที่หน้าด่านยังคงอยู่ในภาวะปกติ มณฑลยูนนานยังคงนำเข้าผลไม้ในฤดูกาลของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุเรียนซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 582 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80.3 ส่งผลให้มณฑลยูนนานกลายเป็นมณฑลที่มีมูลค่าการนำเข้าผลไม้ไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากมณฑลกวางตุ้ง โดยสูงขึ้นจากปี 2564 ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 5 ส่วนผลไม้ที่มณฑลยูนนานมีมูลค่าการนำเข้าจากไทยมากที่สุด 6 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย ส้มโอ ขนุน และสับปะรด โดยทุเรียนและขนุนมีอัตราการขยายตัวเป็นบวก ส่วนมังคุด ลำไย ส้มโอและสับปะรดมีมูลค่าหดตัวลง

โอกาสและความท้าทายที่มีต่อมูลค่าการนำเข้าผลไม้ไทยของมณฑลยูนนานในปี 2566

สำหรับแนวโน้มในปี 2566 มณฑลยูนนานมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด เชื่อมโดยเส้นทาง R3A ซึ่งมีระยะทาง 247 กิโลเมตร จากจังหวัดเชียงราย ผ่าน สปป.ลาว เข้าสู่ชายแดนมณฑล ดังนั้น มณฑลยูนนานจึงเป็นมณฑลที่มีศักยภาพสำหรับการขนส่งสินค้าไทยเพื่อกระจายไปยังมณฑลตอนในของจีน รวมทั้งมีเส้นทาง R3A ที่มีความได้เปรียบสำหรับการขนส่งสินค้าที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนได้ประกาศให้ด่านรถไฟโม่ฮานมีสถานะเป็น “ด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้” (designated port for imported fruits) อย่างเป็นทางการและสามารถเริ่มนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีช่องทางการขนส่งผลไม้เพิ่มขึ้นและสะดวกสำหรับสินค้าที่ต้องการความรวดเร็ว นอกจากนี้ จีนยังได้ประกาศผ่อนคลายการคุมเข้มมาตรการโควิด-19 ตามด่านชายแดนตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ซึ่งจะทำให้การขนส่งผลไม้ไทยไปจีนผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะด่านชายแดนทางบกในมณฑลยูนนานและเขตฯ กว่างซีได้รับการฟื้นคืนให้กลับมาสะดวกและรวดเร็วกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี แม้ในปี 2565 มณฑลยูนนานจะมีมูลค่าการนำเข้าผลไม้ไทยเพิ่มมากขึ้น แต่ในปี 2566 เมื่อด่านชายแดนของจีนมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ประกอบการจึงมีช่องทางขนส่งให้เลือกซึ่งนับเป็นเงื่อนไขที่ท้าทายของมณฑลยูนนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากด่านรถไฟโม่ฮานไม่สามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการทั้งในด้านต้นทุนการขนส่งและความสะดวกรวดเร็วทางพิธีการศุลกากรเมื่อเทียบกับเส้นทาง R3A และด่านชายแดนทางบกของเขตฯ กว่างซี

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา มีสินค้าบางรายการที่มณฑลยูนนานนำเข้าจากไทยเป็นหลักแต่ต่อมาลดจำนวนนำเข้าลงอย่างมากเนื่องจากปัญหาคู่แข่ง ซึ่งมาจาก (1) มณฑลยูนนานสามารถผลิตสินค้าประเภทเดียวกันได้เป็นจำนวนมาก (2) มณฑลยูนนานนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันแทน และ (3) จีนอนุญาตให้นำเข้าสินค้าชนิดเดียวกันจากหลายประเทศมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น กล้วย แม้ในช่วงปี 2563-2565 มณฑลยูนนานจะมีมูลค่าการนำเข้ากล้วยจากไทยมากที่สุด แต่กลับมีจำนวนลดลงเรื่อยมา จากปี 2561 ที่นำเข้ากล้วยจากไทย 19.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดเหลือเพียง 5.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 ขณะเดียวกัน ในภาพรวมการนำเข้ากล้วยจากต่างประเทศของมณฑลยูนนานก็ลดลงเช่นกัน โดยในปี 2561 มณฑลยูนนานนำเข้ากล้วยจากต่างประเทศรวม 55.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือเพียง 8.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 เนื่องจากมณฑลยูนนานสามารถเพาะปลูกกล้วยได้มากจนเป็นแหล่งผลิตกล้วยที่สำคัญหนึ่งใน 5 ของจีน โดยมีแหล่งผลิตกล้วยอยู่ในเขตฯ หงเหอ และเขตฯ สิบสองปันนา ขณะเดียวกัน มณฑลยูนนานยังนำเข้ากล้วยจากหลากหลายประเทศมากขึ้น เช่น เวียดนาม สปป.ลาว และกัมพูชา จากเดิมที่มีเพียงไทยและเมียนมาเป็นเจ้าตลาด

ยางพารา แม้ในช่วงก่อนปี 2558 มณฑลยูนนานจะนำเข้ายางพาราจากไทยเป็นหลัก แต่หลังจากนักธุรกิจจีนได้เข้าไปส่งเสริมให้ สปป.ลาวและเมียนมาตอนบนปลูกยางพารา มณฑลยูนนานจึงนำเข้ายางพาราจาก สปป.ลาวและเมียนมาแทน โดยในปี 2565 ยูนนานนำเข้ายางพาราจาก 4 ประเทศ รวมมูลค่า 665 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนำเข้าจาก สปป.ลาวมากที่สุดด้วยสัดส่วนเกือบร้อยละ 60 รองลงมาได้แก่ เมียนมา มีสัดส่วนร้อยละ 38 ไทย มีสัดส่วนร้อยละ 2 และเวียดนาม มีสัดส่วนร้อยละ 0.03

ล่าสุด ทุเรียน ซึ่งขณะนี้ศุลกากรจีนอนุญาตให้เวียดนามสามารถนำทุเรียนสดเข้าประเทศจีนได้อย่างเป็นทางการแล้ว และในปี 2565 มณฑลยูนนานเริ่มนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามแล้วแม้จะเป็นจำนวนน้อยเพียง 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สำหรับในภาพรวมทั้งประเทศ จีนได้นำเข้าทุเรียนจากเวียดนามรวมมูลค่า 188 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการนำเข้าในปีแรกถึงร้อยละ 4.7 ของมูลค่าการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีน นอกจากนี้ เมื่อปลายปี 2565 จีนยังอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนจากประเทศฟิลิปปินส์ได้อีกหนึ่งประเทศ ชี้ให้เห็นว่าไทยไม่อาจประมาทคู่แข่ง เพราะไทยไม่ได้เป็นผู้เล่นทุเรียนสดรายเดียวในตลาดจีนอีกต่อไป

ด้วยตลาดผลไม้นำเข้าในจีนเป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตที่สดใสจึงทำให้มีการแข่งขันสูง ดังนั้น หัวใจสำคัญที่ต้องย้ำทุกครั้ง คือ ความใส่ใจในการรักษาคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยด้านอาหาร เพราะชาวจีนยุคใหม่ในปัจจุบันหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทำให้ความต้องการผลไม้จะเน้นไปที่ด้านคุณภาพและโภชนาการเป็นสำคัญ รวมถึงการเลือกใช้ช่องทางการขนส่งที่เหมาะสมเพื่อให้ผลไม้ถึงมือผู้บริโภคเร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยให้เป็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น การไลฟ์สดร่วมกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมผลไม้ไทย เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคจีนมากที่สุด ตลอดจนการให้ความสำคัญกับรายละเอียดปลีกย่อยที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ไทย เช่น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทำให้สินค้าดูสะดุดตาน่าซื้อ ทันสมัย สะดวกต่อการรับประทาน พร้อมกับรักษาความสดใหม่ของผลไม้ให้มากที่สุด ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเพิ่มศักยภาพผลไม้ไทยและผลักดันให้ผลไม้ไทยในตลาดมณฑลยูนนานและจีนขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน