จับโป๊ะ! ลอบตัดทุเรียน จ.ตราด พบสวมใบตรวจนอกพื้นที่ เกษตรฯวอนรักษาคุณภาพทุเรียนของประเทศ

นาย ชยุทกฤติ นนทแก้ว เกษตรจังหวัดตราด ให้สัมภาษณ์รายการตอบให้เคลียร์ สถานี NBTกรณีมีการตัดทุเรียนพันธ์หมอนทองก่อนวันเก็บเกี่ยว 15 เมษายน 2566 ตามประกาศจังหวัดฯ ว่า เมื่อวานนี้(15/3/66) เจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดตราด ได้รับข้อมูลและประสานกับเครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทยถึงพิกัด จึงส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและพบจริงพร้อมสอบถามข้อมูล ปรากฏว่า มือตัดนำเอกสารการนำผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งทุเรียนที่ไปตรวจมาแล้ว นำมาแสดงให้ดู แต่ไม่ใช่การตรวจในพื้นที่ จ.ตราด เจ้าหน้าที่จึงไม่ยอม เพราะการตรวจผลผลิตในพื้นที่ จ.ตราด จะต้องนำมาให้เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอที่สวนทุเรียนตั้งอยู่ตรวจสอบ จะไม่อนุญาตให้ตรวจในพื้นที่อื่น แล้วนำเอกสารมาแสดงให้ดู เพราะจะต้องมีคนและเจ้าหน้าที่พื้นที่รับรองข้อมูลหากเกิดปัญหาตามมา จึงได้ประสานให้มือตัดและเจ้าของสวน นำทุเรียนมาตรวจที่ สนง.เกษตรอำเภอเมืองตราด จำนวน 3 ตัวอย่างปรากฏว่า ผ่าน 2 ตัวอย่าง ไม่ผ่าน 1 ตัวอย่าง เจ้าหน้าที่จึงกดดันด้วยการให้คัดแยกทุเรียน ที่คาดว่ายังไม่ผ่านเกณฑ์ออก

“ผมได้ข่าวก่อนและทีมงานเครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทยโทรมาประสาน จึงทำงานร่วมกัน ต้องขอบคุณคนที่แจ้งข่าว โดยเฉพาะการอบรม มือตัด มือคัดทุเรียน คนกลุ่มนี้ก็แจ้งข่าวมีรถวิ่งมา จึงแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เพื่อให้ทราบข้อมูล และประสานกับทุกส่วน ทั้ง สวพ.6 /ศูนย์วิจัยทุ่งเพล ให้ช่วยตรวจสอบปลายทาง” เกษตรจังหวัดตราด กล่าว

E994AF59 EA3C 4C66 A4B6 72E4350B8D51

เกษตรจังหวัดตราด บอกอีกว่า ได้ชี้แจงเจ้าของสวน เจ้าของล้ง ว่า เหตุใดถึงตัดก่อนเช่นนี้ เพราะอ้างว่าตรวจและการตรวจนอกพื้นที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ทราบว่า นำทุเรียนลูกไหน สวนไหน ไปส่งตรวจ เมื่อเจ้าหน้าที่เข้มงวด ก็จะมากล่าวหาเจ้าหน้าที่ไม่เห็นใจชาวสวน จึงอยากให้มองมุมกลับกันว่า ขอให้มองในภาพรวมทุเรียนไทยด้วย และอยากขอร้องว่า คนไทยต้องมีวินัย และจริงใจต่อผลผลิต

ด้าน น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน อดีตโฆษก กมธ.แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม กล่าวว่า ต้องขอบคุณภาคประชาชนโดยเฉพาะเครือข่ายทุเรียนไทย และเกษตรจังหวัดตราด ที่เอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ และอยากให้ทุกพื้นที่ดำเนินการเช่นนี้ เนื่องจากผลผลิตล็อตใหญ่ชุดแรก กำลังจะออกสู่ตลาด จึงเกรงว่าจะมีคนบางกลุ่มฉวยโอกาสใช้ช่องว่างทางกฎหมายหาผลประโยชน์จนกระทบกับชาวสวน มือตัด มือคัด และล้ง ที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ

สิ่งสำคัญ อยากให้ สวพ.6 แจ้งผลการทำงานให้ทราบทุกวัน เหมือนกับปีที่ผ่านมา(2565) เพราะการตรวจและเป็นข่าวมากเท่าใด ยิ่งทำให้ผู้บริโภคปลายทางมั่นใจในการสั่งซื้อสินค้า และยังเป็นการการันตีคุณภาพของสินค้าโดยที่ไม่ต้องโฆษณาด้วย

สำหรับกรณีที่ จ.ตราด เมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่จับตาไปเพียงแค่สวนเดียว เนื่องจากได้รับรายงานข้อมูลในทางลับจากเครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทย ว่า จะมีการตัดทุเรียนหมดสวน แต่ภายหลังเกิดเหตุและเจ้าหน้าที่ทราบเรื่อง จึงไปกดดันทุกวิทาง ทำให้ตัดไปไดเฉพาะที่ได้คุณภาพ