โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ เน้นย้ำ ยุทธศาสตร์ยางพารา สนับสนุนให้เกษตรกรมีผลผลิตที่มีคุณภาพ ขายได้ราคาดี ตามวิสัยทัศน์ “ประเทศผู้ผลิตยางคุณภาพดี เกษตรกรมีรายได้มั่นคง”
วันที่ 20 มีนาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบความก้าวหน้าจากรายงานการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งได้ดำเนินการผลักดันซื้อขายยางมาตรฐาน และการจัดการป่าไม้ยั่งยืน โดยการซื้อขายล็อตแรกมีจำนวนกว่า 500 ตัน ระหว่างสหกรณ์ชุมชน กับ เอกชน ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินการตามนโยบายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แผนยุทธศาสตร์ยางพารา ระยะ 20 ปี (2560-2579) ที่ช่วยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการผลิตยางของไทยให้สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร ด้านเศรษฐกิจ ด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และด้านเทคโนโลยี ทำให้อาจมีผลกระทบต่อแนวทางการพัฒนา และการปรับตัวภายใต้การผลิตและการซื้อขายผลิตภัณฑ์ยาง ส่งผลให้การซื้อขายยางในหลายประเทศ เริ่มให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย กยท. จึงจัดระบบ ผลักดันสวนยางไทย ให้เข้าสู่ระบบการรับรองป่าไม้ ตั้งแต่กระบวนการปลูกสร้างสวนยาง เก็บเกี่ยว แปรรูป เพื่อผลักดันให้เกิดการซื้อ – ขายผลิตภัณฑ์จากยางพารา ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ผ่านระบบตลาดยางพาราของ กยท. ซึ่งเป็นแนวทางจากแผนยุทธศาสตร์ยางพารา ระยะ 20 ปี (2560-2579) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรฯ และสถาบันเกษตรกรฯ 2.การเพิ่มประสิทธิภาพ และการยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน 3.การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.การพัฒนาตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย และ 5.การพัฒนาปัจจัยสนับสนุน
ทั้งนี้จากการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ที่ผ่านมา ได้มีการส่งมอบยาง ตามสัญญาการซื้อขายยางก้อนถ้วยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามหลักสากล ระหว่าง สหกรณ์ยางพาราชุมชนตำบลหนองแคน จำกัด และ บริษัท ไทยอิสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) โดยมีการซื้อขายยางกว่า 500 ตัน และในล็อตแรกได้ส่งมอบยางแล้ว 60 ตัน นับเป็นจุดเริ่มต้นให้เกษตรกรชาวสวนยางเกิดความมั่นใจ มีความมั่นคงในรายได้ จากการทำสวนยางตามมาตรฐานสากล สามารถผลิตยางที่มีคุณภาพ และขายได้ในราคาที่สูงขึ้น นำไปสู่ความยั่งยืนของอาชีพการทำสวนยาง ถือเป็นการขับเคลื่อนภายใต้แนวทางเพิ่มมูลค่าสินค้าและความยั่งยืนของอาชีพการทำสวนยาง สะท้อนและเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเกษตรกร กลุ่มสถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวสำหรับการดำเนินธุรกิจการซื้อขาย
“นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ยางพารา ระยะ 20 ปี (2560-2579) ซึ่งจะทำให้สามารถยกระดับมาตรฐานของการผลิตยาง และเพิ่มมูลค่าการซื้อขายได้ ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลผ่านการกลั่นกรองจากผู้มีความรู้ความสามารถ เข้าใจปัญหา ซึ่งเชื่อมั่นว่านโยบายที่ผลักดันผ่านยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของรัฐบาลจะช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนได้อย่างยั่งยืน โดยยุทธศาสตร์ยางพารา ช่วยผลักดันให้เกษตรกร มีผลผลิตที่มีคุณภาพ ขายได้ราคาดี ควบคู่ไปกับมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน เป็นไปตามวิสัยทัศน์ “ประเทศผู้ผลิตยางคุณภาพดี เกษตรกรมีรายได้มั่นคง” นายอนุชาฯ กล่าว