อธิบดีข้าว ชวนชาวนาขาย “คาร์บอนเครดิต” เพิ่มช่องทางหารายได้และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร

วันที่ 22 มี.ค.66 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าวให้การต้อนรับนายนพดล ประเสริฐสุโข ประธาน บ.โกลบอลเบสท์ อินเตอร์เทรด จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนบริษัทจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือในการรับซื้อคาร์บอนเครดิตในนาข้าว เพื่อเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางในการยกระดับรายได้ให้กับชาวนาซึ่งทางบริษัทมีเป้าหมายในการส่งเสริมการรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากเกษตรกร โดยจะนำร่องรับซื้อในเขตนาชลประทานบนพื้นที่กว่า 2 ล้านไร่ในปีนี้ 

%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81
ชวนชาวนาขาย “คาร์บอนเครดิต”

อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าว ได้รับนโยบายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการกำกับดูแลงานด้านข้าว ที่ถือเป็นสินค้าภาคการเกษตรที่สำคัญ โดยให้ตระหนักถึงความสำคัญของการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดภาวะโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งกรมการข้าวได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของตลาดคาร์บอนเครดิตที่พี่น้องชาวนาจะได้รับ จึงได้มีการเข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชาวนา เพื่อทำความเข้าใจถึงคำว่าคาร์บอนเครดิต และสร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ที่พี่น้องชาวนาจะได้รับหากมีการทำคาร์บอนเครดิตขึ้น โดยขณะนี้กรมการข้าวได้มีการนำร่องพื้นที่ในการสร้างรายได้จากการทำคาร์บอนเครดิตให้ชาวนาในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นที่แรก

328565914 1146649472698821 3568602041555971479 n
ชวนชาวนาขาย “คาร์บอนเครดิต”

อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า กรมการข้าว โดยสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ได้เข้ามาส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตให้กับชาวนาในอำเภอเดิมบางนางบวช และอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งถือเป็นอำเภอนำร่องที่จะส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงข้อดีและประโยชน์ที่ชาวนาจะได้รับจากการสร้างคาร์บอนเครดิต โดยได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งมาถ่ายทอดให้กับชาวนา โดยเป็นการนำเอาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเข้ามาใช้ในการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Levelling) ที่จะช่วยให้การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งการทำนาแบบเปียกสลับแห้งนั้นจะช่วยลดก๊าซมีเทนในดินที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ นอกจากนั้นหลังการเก็บเกี่ยวกรมการข้าวยังตั้งเป้าในการรณรงค์ให้ชาวนาลดการเผาตอซังข้าว ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสร้างคาร์บอนเครดิตให้ชาวนานำไปสร้างรายได้เสริมได้  

นอกจากนี้ กรมการข้าวจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อบันทึกข้อมูลการทำนาแบบลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของชาวนา ให้สอดรับกับการส่งเสริมให้ชาวนาหันมาสนใจในการขายคาร์บอนเครดิต อีกทั้งจะมีการจัดฝึกอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจถึงเรื่องคาร์บอนเครดิตให้กับศูนย์ข้าวชุมชนและชาวนาอาสาในเขตจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อไปในอนาคตอีกด้วย

สำหรับชาวนาท่านใดที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมถึงการขายคาร์บอนเครดิตได้ที่  ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวและศูนย์วิจัยข้าวทั่วประเทศ สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ เว็บไซต์กรมการข้าว และ Facebook Fanpage Rice News Channel