กรมการค้าภายใน ยันเตรียมมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกไว้พร้อมหมดแล้ว สามารถดำเนินการได้ทันที หลัง “จุรินทร์” กดปุ่มใช้ 22 มาตรการ เล็งใช้ “อมก๋อย โมเดล” เชื่อมโยงผู้ซื้อผู้ขาย กระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เตรียมเดินหน้ามาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2566 หลังจากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เคาะมาตรการที่จะนำมาใช้ดูแลผลไม้ฤดูการผลิตปี 2566 รวมทั้งสิ้น 22 มาตรการ ซึ่งเป็นมาตรการเดิม 17 มาตรการ และมาตรการใหม่ 5 มาตรการ โดยในจำนวนนี้ เป็นมาตรการที่กรมฯ รับผิดชอบในการขับเคลื่อนเกินครึ่ง และขณะนี้ ได้เตรียมความพร้อมในการดำเนินมาตรการที่รับผิดชอบไว้หมดแล้ว พร้อมที่จะดำเนินการทันที เมื่อผลไม้ออกสู่ตลาด
ทั้งนี้ มาตรการที่กรมฯ จะนำมาใช้ในการดำเนินการ คือ อมก๋อย โมเดล ซึ่งเป็นมาตรการที่ประสบความสำเร็จในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยจะเข้าไปเชื่อมโยงให้ผู้ซื้อ ทั้งผู้ประกอบการ ห้าง ผู้ผลิต มาเจอกับเกษตรกร และตกลงซื้อขาย มีเป้าหมายที่ 1 แสนตัน จะช่วยกระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต เป้าหมาย 9 หมื่นตัน โดยช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือเกษตรกรกิโลกรัม (กก.) ละ 3 บาท และสนับสนุนให้รถเร่ รถโมบาย ไปรับซื้อผลไม้และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรงในช่วงที่ผลไม้ออกมาก เป้าหมาย 3 หมื่นตัน
นอกจากนี้ กรมฯ จะประสานงานกับห้าง ร้านสะดวกซื้อและปั๊มน้ำมันต่าง ๆ เปิดพื้นที่ระบายผลไม้ให้แก่เกษตรกร เป้าหมาย 1 แสนตัน และจัดรณรงค์บริโภคผลไม้ไทย งาน Fruit Festival ในแหล่งท่องเที่ยว และสนับสนุนการโหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบิน ฟรี 20 กก. ปริมาณรวม 4.2 หมื่นตัน
ขณะเดียวกันจะช่วยสนับสนุนกล่อง พร้อมค่าจัดส่งผลไม้ที่ขายตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ไปยังผู้บริโภค ผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งปีที่แล้วแจกทั้งสิ้น 3 แสนกล่อง ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ปีนี้ตั้งเป้าไว้เท่าเดิม 3 แสนกล่อง และยังจะเข้าไปอบรมให้ความรู้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ในเรื่องการค้าออนไลน์ เพื่อขายตรงให้แก้ผู้บริโภค รวมถึงหลักสูตรการส่งออกเบื้องต้น ตั้งเป้าอย่างน้อย 2,500 ราย
ส่วนมาตรการที่เคยเป็นมาตรการเสริม ปีนี้จะใช้เป็นมาตรการหลัก คือ การส่งเสริมการแปรรูป ช่วยค่าบริหารจัดการแปรรูปลำไยอบแห้ง และทุเรียนแช่แข็ง ซึ่งปีที่แล้วช่วยได้มาก ช่วงผลผลิตลำไยออก แต่ตลาดจีนและเวียดนามชะลอตัว ก็นำไปอบแห้งเก็บ และดึงปั๊มน้ำมันซื้อไปแจกให้ผู้เติมน้ำมัน และทุเรียน ก็นำไปแปรรูปแช่แข็ง แล้วนำไปจำหน่ายผ่านตู้แช่ที่สถานีรถไฟฟ้า แก้ทั้งปัญหาทุเรียนล้นตลาด และช่วยให้ผู้บริโภคได้บริโภคทุเรียนคุณภาพ และจะดึงนิคมอุตสาหกรรม 60 แห่ง 3 หมื่นโรงงาน เปิดพรีออเดอร์ผลไม้ ตั้งเป้า 1.5 หมื่นตัน ซึ่งปีที่แล้ว ประสบผลสำเร็จด้วยดี
สำหรับมาตรการอื่น ๆ กรมฯ จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการ เช่น การเชื่อมโยงผลไม้โดยเซลส์แมนจังหวัด และเซลส์แมนประเทศ ในการระบายผลไม้ทั้งในและต่างประเทศ การช่วยสภาพคล่องผู้ส่งออก ช่วยดอกเบี้ย 3% และช่วยส่งออกกก.ละ 4 บาท เป้าหมาย 1 แสนตัน การเข้าร่วมในคณะทำงานผลักดันการส่งออกผลไม้ ที่จะมีวอร์รูมภาครัฐและเอกชนติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาส่งออกผลไม้ และการบังคับใช้กฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ และพ.ร.บ.ชั่งตวงวัด