เรื่องกินเรื่องใหญ่..จีนออกนโยบาย หมายเลขที่ 1 เกี่ยวกับอาหารและการเกษตร ประจำปี 2566.. โอกาสและความท้าทายสินค้าเกษตรไทย

นโยบายหมายเลขที่ 1 (No. 1 Document)

สำนวนจีนกล่าวไว้ว่า “ประชาชนมองเรื่องอาหารการกินสำคัญเท่าฟ้า” สื่อความหมายว่า เรื่องกินเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับประชาชน และเมื่อคำนึงถึงประชากรของจีนที่มีมากกว่า 1,400 ล้านคน การแก้ไขปัญหาปากท้องจึงเป็นภารกิจที่สำคัญสำหรับรัฐบาลจีน

จีนได้ประกาศนโยบายหมายเลขที่ 1 ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “การผลักดันภารกิจสำคัญของการฟื้นฟูชนบท (rural revitalization) อย่างรอบด้าน” ซึ่งนับเป็นปีที่ 20 ติดต่อกันที่จีนได้ออกนโยบายหมายเลขที่ 1 ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร 3 ประการ (three rural issues) ได้แก่ เกษตรกรรม ชนบท และเกษตรกร สะท้อนว่าจีนให้ความสำคัญกับ three rural issuesซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชน เสถียรภาพของเศรษฐกิจและสังคมจีนในภาพรวม รวมทั้งเป็นการสร้างความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีน โดยเฉพาะกับชนชั้นเกษตรกรในพื้นที่ชนบทของจีน

No 1 Document 410x1024 1

ความมั่นคงทางอาหารและเป้าหมายการเป็น “ประเทศที่มีความแข็งแกร่งด้านการเกษตร”

นโยบายหมายเลขที่ 1 ของปีนี้ได้กำหนดให้การรักษาเสถียรภาพของผลผลิตและอุปทานของอาหารและสินค้าเกษตรเป็นภารกิจอันดับต้น เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหาร นอกจากนี้ ยังได้บรรจุถ้อยคำการพัฒนาให้จีนเป็น “ประเทศที่มีความแข็งแกร่งด้านการเกษตร” เป็นครั้งแรก

นอกจากนี้ ในย่อหน้าแรกของนโยบายฯได้ระบุว่า “การสร้างจีนให้เป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัยนั้น ภารกิจที่ท้าทายที่สุดและต้องใช้ความพยายามมากที่สุดล้วนอยู่ในพื้นที่ชนบท” และ “การสร้างจีนให้เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจำเป็นต้องเพิ่มความแข็งแกร่งด้านการเกษตรก่อน”

ภารกิจที่สำคัญในปี 2566

การรักษาเสถียรภาพของผลผลิตและอุปทานของอาหารและสินค้าเกษตรที่สำคัญ

(1) การรักษาระดับผลผลิตธัญพืชและอาหารให้สูงกว่า 6.5 แสนล้านกิโลกรัม เพิ่มกำลังผลิตธัญพืชและอาหาร 5 หมื่นล้าน กิโลกรัม เพิ่มประสิทธิภาพของการปลูกข้าวสาลีและข้าวโพด และเพิ่มเงินรางวัลให้แก่อำเภอหลักที่ผลิตธัญพืชและอาหาร

(2) การขยายพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองและกลุ่มพืชเพื่อสกัดน้ำมัน อาทิ ข้าวโพด โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

(3) การพัฒนาการเกษตรที่ทันสมัย อาทิ การอบแห้ง/การแช่แข็งสินค้าเกษตร และระบบโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น รวมถึงการวิจัยและการทำการเกษตรในพื้นที่ทะเลทรายโกบี

(4) การสร้างระบบอุปทานอาหารที่มีความหลากหลายตามแนวคิด “Big Food Concept[1]” ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

และ(5) การรักษาเสถียรภาพของอุปทานธัญพืช อาหาร และสินค้าเกษตรที่สำคัญ และกระจายแหล่งนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ

การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านการเกษตร (1) การอนุรักษ์และควบคุมการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร (2) การผลักดันการสร้างที่ดินเพื่อการเกษตรที่มีมาตรฐานสูง โดยจีนมีเป้าหมายจะทยอยปรับให้ที่ดินเพื่อการเกษตรขั้นพื้นฐานเปลี่ยนเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรที่มีมาตรฐานสูง (3) การผลักดันการสร้างโครงการชลประทาน และ (4) การเพิ่มขีดความสามารถในการแจ้งเตือนและลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ

การสนับสนุนเทคโนโลยีและอุปกรณ์ด้านการเกษตร (1) การส่งเสริมการวิจัยด้านเทคโนโลยี ที่สำคัญด้านการเกษตร และสนับสนุนการจัดตั้งแพลตฟอร์มด้านการเกษตร อาทิ ห้องปฏิบัติการและ ศูนย์นวัตกรรมระดับชาติ (2) การฟื้นฟูธุรกิจพันธุ์สัตว์และเมล็ดพันธุ์ โดยเฉพาะปศุสัตว์ สัตว์ปีก ถั่วเหลืองที่มีผลผลิตสูงและสกัดน้ำมันได้มาก (3) การผลักดันการวิจัยและการใช้งานของอุปกรณ์เครื่องจักรด้านการเกษตร และ (4) การผลักดันการพัฒนาแบบสีเขียวด้านการเกษตรและการใช้ประโยชน์จากขยะบรรจุภัณฑ์ยาฆ่าแมลงและมูลสัตว์

การเสริมสร้างผลงานด้านการบรรเทาความยากจน (1) การป้องกันไม่ให้ประชาชนกลับสู่ภาวะความยากจนในวงกว้าง (2) การช่วยให้ประชาชนที่หลุดพ้นจากภาวะความยากจนสามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง อาทิ การพัฒนาธุรกิจในท้องถิ่นที่ได้รับเงินสนับสนุนจากงบประมาณส่วนกลางของจีน และการสร้างงานไม่ต่ำกว่า 30 ล้านตำแหน่งให้กับประชาชนที่หลุดพ้นจากภาวะความยากจน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกของจีน และ (3) การเชื่อมโยงด้านนโยบายระหว่างการเสริมสร้างผลงานด้านการบรรเทาความยากจนและนโยบายการฟื้นฟูชนบท

การผลักดันการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงของธุรกิจในเขตชนบท (1) การสร้างนิคมธุรกิจการแปรรูปสินค้าเกษตรและศูนย์กระจายสินค้าห่วงโซ่ความเย็นที่อยู่รอบข้างเขตผลิตอาหาร (2) การเร่งพัฒนาธุรกิจบริการที่ทันสมัยในเขตชนบท อาทิ การให้บริการ e-Commerce การจัดส่งพัสดุ การดูแลเด็กและผู้สูงวัย และการท่องเที่ยว และ (3) การส่งเสริมรูปแบบธุรกิจใหม่ อาทิ โครงการที่พักพร้อมอาหารเช้า (Bed & Breakfast) ดีเด่นในเขตชนบท การสร้างแพลตฟอร์มประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรผ่านการ livestreaming และการพัฒนาธุรกิจอาหารกึ่งสำเร็จรูป เพื่อจัดส่งร้านอาหารในเขตเมือง

การขยายช่องทางการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร (1) การรักษาเสถียรภาพการจ้างงานของเกษตรกรโดยเฉพาะการจ้างงานของ SMEs (2) การสนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์ของเกษตรกร และ (3) การปกป้องและรักษาสิทธิอันชอบธรรมในสินทรัพย์และที่ดินของเกษตรกร

การผลักดันการสร้างชนบทที่เหมาะกับการอยู่อาศัยและการประกอบธุรกิจอย่างกลมกลืนและสวยงาม (1) การเพิ่มความเข้มงวดในการวางแผนและก่อสร้างชนบท (2) การปรับปรุงสภาพห้องน้ำและระบบน้ำเสียในเขตชนบท โดยเฉพาะในหมู่บ้านที่มีประชากรจำนวนมากและมีที่ตั้งใกล้แหล่งน้ำ (3) การยกระดับคุณภาพถนนและโครงข่ายไฟฟ้าในเขตชนบท และ (4) การเพิ่มรายได้ของครูและแพทย์ในเขตชนบทเพื่อยกระดับการให้บริการด้านการศึกษาและการรักษาพยาบาลในเขตชนบท

การเปรียบเทียบนโยบายหมายเลขที่ 1 ของปี 2565 และปี 2566

หากเปรียบเทียบกับปี 2565 นโยบายหมายเลขที่ 1 ประจำปี 2566 มีการบรรจุประเด็นใหม่ที่น่าสนใจ อาทิ

-การเพิ่มกำลังผลิตธัญพืชและอาหาร 5 หมื่นล้านกิโลกรัม ซึ่งจะทำให้จีนมีกำลังผลิตอาหาร จากเดิม 6.5 แสนล้านกิโลกรัม สู่ 7 แสนล้านกิโลกรัมต่อปี

-การลดการพึ่งพากากถั่วเหลืองในอาหารสัตว์ เพื่อรับมือกับความท้าทายและลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ

-การกลับมาเน้นย้ำแนวคิด “Big Food Concept” ของประธานาธิบดีสีฯ หลังจากที่มีการบรรจุแนวคิดดังกล่าวใน นโยบาย หมายเลขที่ 1 ประจำปี 2559

-การทำวิจัยและการเกษตรในพื้นที่ทะเลทรายโกบี

-การใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรจากดาวเทียมระบุพิกัด BeiDou

-การบรรจุถ้อยคำ “เขตชนบทที่มีความกลมกลืนและสวยงาม” แทนคำว่า“เขตชนบทที่มีความสวยงาม”

-การผลักดันให้สถาบันการเงินสนับสนุนเงินกู้ให้กับโครงการฟื้นฟูชนบท

โอกาสและความท้าทายสำหรับสินค้าเกษตรของไทย

ในวันเดียวกันที่จีนประกาศนโยบายหมายเลขที่ 1 นายถัง เหรินเจี้ยน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรและกิจการชนบทจีนกล่าวว่า ในปี 2565 แม้จีนเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์โควิด-19 ความผันผวนของราคาอาหารในตลาดโลก และราคาวัตถุดิบด้านการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ผลผลิตด้านธัญพืชและอาหารของจีนยังสูงกว่า 6.5 แสนล้านกิโลกรัมต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีนในภาพรวม อย่างไรก็ดี นายถังฯ ระบุว่า ปัจจุบันและในอนาคตจีนยังคงเผชิญกับแรงกดดันด้านการรักษาเสถียรภาพของผลผลิตและอุปทานของอาหารและสินค้าเกษตร จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการต่างประเทศ โดยเฉพาะไทยซึ่งมีจุดแข็งในด้านสินค้าเกษตรและผลไม้ และมีฐานลูกค้าในตลาดจีนอยู่แล้ว

%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81 1
ผลไม้ไทย

อย่างไรก็ นโยบายหมายเลขที่ 1 สนับสนุนให้จีนพึ่งพาตนเองมากยิ่งขึ้นทั้งอาหารของคนและอาหารของสัตว์ เพื่อลดการนำเข้าและการพึ่งพาจากต่างประเทศ ผ่านการกระจายแหล่งนำเข้าสินค้าเกษตรของจีน ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปจีนโดยเฉพาะสินค้าเกษตรต้องเผชิญกับความท้าทายและการแข่งขันมากยิ่งขึ้นในอนาคต อาทิ ปัจจุบัน ไทยมิได้เป็นผู้ส่งออกทุเรียนผลสดรายเดียวของจีนอีกต่อไป แต่มีคู่แข่งรายใหม่ เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เวียดนามและฟิลิปปินส์ ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการไทย จำเป็นต้องรักษาคุณภาพและความโดดเด่นของสินค้า เพื่อรับมือกับแนวโน้มการแข่งขันที่สูงขึ้น ควบคู่กับกลยุทธ์การตลาดและความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนรุ่นใหม่ที่นับวันจะมีความหลากหลายและมีชั้นเชิงมากยิ่งขึ้น

ที่มา :ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง