ขึ้นทะเบียน GI “ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย” หนุนเพิ่มชื่อเสียง-สร้างรายได้ชุมชน

กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศขึ้นทะเบียน GI ใหม่ “ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย” สินค้าพื้นเมืองชื่อดัง และกวาดรางวัลมากมายจากการประกวดงานมหกรรมพันธุ์ข้าวภาคอีสาน มั่นใจช่วยเพิ่มชื่อเสียงและสร้างรายได้เข้าจังหวัดได้เพิ่มขึ้น
         

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ คือ “ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย” ซึ่งเป็นสินค้าพื้นเมืองของจังหวัดเลย เป็นสินค้าที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ อับดับ 1 จาก 90 สายพันธุ์ของข้าวเหนียวที่มีความหอมที่สุด ในงานมหกรรมพันธุ์ข้าวภาคอีสาน และยังได้รับรางวัล อับดับ 3 ประเภทข้าวเหนียวที่มีความอร่อย รวมทั้งมีการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ซึ่งนับว่าเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียง โดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถเพิ่มมูลค่าให้ตัวสินค้าและสร้างรายได้ให้เกษตรกรจังหวัดเลย 

1512874694 1.png 550x366 1
ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย

สำหรับ “ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย” เป็นเมล็ดข้าวที่ผ่านการคัดเฉพาะตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ถูกปลูกในที่ราบลุ่มและที่ราบระหว่างภูเขา ทำให้ดินส่วนนั้นมีลักษณะร่วนหยาบ โดยเกิดจากตะกอนลำน้ำ ด้วยสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าจังหวัดอื่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้พื้นที่ตรงนั้นอุดมไปด้วยแร่ธาตุ ต้นข้าวสามารถดูดซึมสารอาหารและแตกกอได้มากกว่าปกติ ด้วยแหล่งภูมิศาสตร์นี้ ทำให้เมล็ดข้าวทางจังหวัดเลย มีอัตลักษณ์ชัดเจน สีฟางขีดน้ำตาลและไม่มีหางข้าว เมื่อนำไปหุงสุกจะมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ สัมผัสนุ่มและมีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่าข้าวเหนียวทั่วไป หลังถูกหุงทิ้งไว้หลายชั่วโมงก็ยังสามารถคงความนุ่มไว้ได้นาน จึงเหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำตาล 
         

ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนหรือชุมชนท้องถิ่นที่มีสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น ที่มีคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์และเป็นสินค้าที่มีคุณภาพมีชื่อเสียง สามารถขอคำปรึกษาเพื่อยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI ได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร.1368

การขึ้นทะเบียน GI เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าจากความแตกต่างทางด้านคุณภาพเมื่อเทียบกับสินค้าแบบเดียวกันที่ผลิตจากแหล่งอื่น รวมถึงการมีเรื่องราวเกี่ยวกับท้องถิ่นทำให้สินค้า GI อยู่ในฐานะสินค้าพรีเมี่ยมที่มีปริมาณผลิตจำกัด ส่งผลให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้มีกำลังซื้อสูงทั้งในและตลาดส่งออกพร้อมที่จะยอมรับราคาสินค้า GI ที่อาจสูงกว่าสินค้าแบบเดียวกัน ที่ผ่านมาจากการศึกษาพบว่า ราคาสินค้ากลุ่มที่มีการขึ้นทะเบียน GI เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 24-ร้อยละ54 เมื่อเทียบกับราคาก่อนขึ้นทะเบียนทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า