กรมการค้าต่างประเทศชวนผู้ประกอบการทุเรียน ขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) เพื่อเป็นแต้มต่อในการส่งออกไปยังประเทศคู่เจรจา FTA เผยต้องมาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก-นำเข้าก่อน และตรวจคุณสมบัติถิ่นกำเนิด ย้ำทุเรียนต้องปลูกและเก็บเกี่ยวในไทย พร้อมแนะไม่ตัดทุเรียนอ่อน ไม่ลักลอบนำเข้าทุเรียนเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทุเรียนไทย
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ขอเชิญชวนผู้ประกอบการขอรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีศุลกากร ณ ประเทศปลายทาง ซึ่งปัจจุบัน ไทยมีความตกลงการค้าเสรีที่มีผลบังคับใช้แล้วจำนวน 14 ฉบับ สำหรับการส่งออกไปยัง 18 ประเทศสมาชิกความตกลง ได้แก่ กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู และชิลี
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะขอรับ C/O จะต้องมาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้ากับกรมฯ ก่อน จากนั้นให้ทำการตรวจคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดของสินค้า ซึ่งในขั้นตอนนี้ ผู้ประกอบการจะต้องแสดงให้เห็นว่าสินค้าตนผลิตได้ตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของสินค้าที่จะส่งออก โดยความตกลง FTA ทั้ง 14 ฉบับ กำหนดกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (ROO) สำหรับทุเรียน คือ ต้องเป็นทุเรียนที่ปลูกและเก็บเกี่ยวในไทย ซึ่งเอกสารที่ใช้แสดงเพื่อประกอบการตรวจ ROO ของทุเรียน ประกอบด้วย แบบขอรับการตรวจต้นทุน พร้อมระบุข้อมูลเพื่อยืนยันแหล่งที่มาของสินค้าเพิ่มเติม
“ทุเรียนเป็นสินค้าเฝ้าระวัง เนื่องจากมีการสวมสิทธิ์เอาทุเรียนจากประเทศอื่นมาอ้างว่าเป็นทุเรียนไทยและทำการส่งออก ผู้ประกอบการจึงต้องแสดงเอกสารรับรองว่าเป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในไทยเพิ่มเติม เช่น เอกสารยืนยันแหล่งที่มาของทุเรียน โดยใช้ใบรับรองแหล่งผลิต GAP ใบเสร็จซื้อขาย สลิปโอนเงินที่มีหลักฐานการซื้อขายจากสวนที่ปลูกในไทย เป็นต้น เพื่อพิสูจน์ว่าทุเรียนของตนไม่มีการสวมสิทธิ์ หลังจากนั้น ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอ C/O ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเมื่อรายละเอียดทุกอย่างถูกต้องครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะอนุมัติคำขอ C/O ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยปกติจะใช้เวลาอนุมัติภายใน 20 นาที/ฉบับ หลังจากอนุมัติเจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ประกอบการทราบ ผ่านระบบ เพื่อจะได้มารับ C/O ที่กรมฯ ต่อไป แต่ในเร็ว ๆ นี้ ผู้ประกอบการ จะไม่จำเป็นต้องรับ C/O ที่กรมฯ อีกต่อไป โดยจะสามารถพิมพ์ C/O ณ สำนักงานตนเองได้ทันที”นายรณรงค์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในการส่งออกทุเรียน ผู้ประกอบการต้องรักษาชื่อเสียงของทุเรียนไทย และรักษาธุรกิจนี้ให้ยั่งยืน โดยต้องไม่ตัดทุเรียนอ่อนที่ไม่ได้คุณภาพไปจำหน่ายและส่งออก และที่สำคัญต้องไม่ลักลอบนำเข้าทุเรียนจากประเทศอื่นมาสวมสิทธิ์เป็นทุเรียนไทย
ในปี 2565 มีผู้ประกอบการที่ขอรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าส่งออกทุเรียนสดและแช่เย็นแช่แข็ง คิดเป็นมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 5,164.80 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 177,000 ล้านบาท) โดย C/O ที่มีการขอรับมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1.ฟอร์ม E (ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน) มูลค่า 5,074.66 ล้านเหรียญสหรัฐ 2.RCEP มูลค่า 50.96 ล้านเหรียญสหรัฐ 3.ฟอร์ม D (ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน) มูลค่า 16.59 ล้านเหรียญสหรัฐ 4.ฟอร์ม JTEPA (ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น) มูลค่า 12.91 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5.ฟอร์ม AK (ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี) มูลค่า 5.89 ล้านเหรียญสหรัฐ