กสก.เตือนชาวสวนมะพร้าว-ปาล์มน้ำมัน สำรวจเฝ้าระวังหนอนปลอกเล็ก ก่อนแพร่ระบาดกระทบผลผลิต

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า “หนอนปลอกเล็ก” ศัตรูสำคัญของมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน หากแพร่ระบาดรุนแรงในพื้นที่จะทำให้ผลผลิตมะพร้าวและปาล์มน้ำมันลดลงได้โดยล่าสุดกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในระดับพื้นที่เรื่องหนอนปลอกเล็กเข้าทำลายสวนปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้กว่า 2,000 ไร่ และเริ่มแพร่กระจายเพิ่มขึ้นในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและชุมพร กรมส่งเสริมการเกษตร จึงกำชับให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเร่งเข้าให้คำแนะนำและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวและปาล์มน้ำมันเกี่ยวกับวิธีการป้องกันกำจัดหนอนปลอกเล็ก โดยทั่วไปหนอนปลอกเล็กจะพบการระบาดมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้สามารถพบการเข้าทำลายได้ตลอดทั้งปี จึงขอให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวและปาล์มน้ำมันในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคใต้ หมั่นสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมและป้องกันผลกระทบจากศัตรูพืชดังกล่าว

%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%82%E0%B9%87%E0%B8%87
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร 

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการแพร่ระบาดหนอนปลอกเล็ก สามารถแพร่กระจายได้โดยลม ระยะหนอนเป็นระยะที่ทำให้เกิดความเสียหาย โดยระยะตัวหนอนใช้เวลา 92 – 124 วัน การทำลายโดยหนอนจะแทะผิวใบมะพร้าวหรือใบปาล์มน้ำมันแล้วเอามาทำปลอกหุ้มตัว ทำให้ใบแห้งเป็นสีน้ำตาล และกัดทะลุใบเป็นรูขาดแหว่ง ถ้ารุนแรงจะเห็นทางใบทั้งต้นเป็นสีน้ำตาลแห้งคล้ายใบไหม้ ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต และผลผลิตลดลง

โดยวิธีการป้องกันกำจัดที่แนะนำคือ หมั่นสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอ หากพบการทำลายเล็กน้อย ให้ตัดทางใบที่หนอนกำลังทำลายมากำจัดทิ้ง แต่หากในพื้นที่พบการระบาดของด้วงงวงหรือด้วงสาคูไม่ควรตัดทางใบเพราะรอยแผลจะเป็นช่องทางเข้าทำลายของด้วงงวงได้อีก แนะนำให้เกษตรกรพ่นเชื้อบีที (Bacillus thuringiensis) อัตรา 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบ 5 มิลลิลิตร พ่นให้ทั่วบริเวณใต้ใบและต้องพ่น ในช่วงเช้าหรือเย็น เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดดที่จะทำลายเชื้อบีที โดยใช้เครื่องพ่นที่ปรับความดันได้ไม่น้อยกว่า 30 บาร์ และพ่นติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ห่างกัน 5-7 วัน กรณีพบการระบาดรุนแรง ใช้วิธีพ่นสารทางใบ โดยเลือกใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่ง ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ฟลูเบนไดเอไมด์ 20% WG อัตรา 5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17 % SC หรือลูเฟนนูรอน 5 % EC อัตรา 20 มิลลิเมตร ต่อน้ำ 20 ลิตร แต่ควรระมัดระวังการใช้สารลูเฟนนูรอนในบริเวณใกล้แหล่งน้ำหรือบริเวณเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เนื่องจากมีพิษสูงต่อกุ้ง โดยสามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน