เตรียมแข่งเดือด เมื่อทุเรียน ‘ปินส์’ ล็อตแรกบุกตลาดจีน.. ทุเรียนไทยรับมืออย่างไร

ท่านทราบหรือไม่ว่า… “ฟิลิปปินส์” เป็นประเทศที่ 3 ที่ได้รับอนุญาตจากศุลกากรแห่งชาติจีนให้ส่งออก “ทุเรียนสด” ไปประเทศจีนได้ต่อจากประเทศไทย และเวียดนาม (มาเลเซีย ได้รับอนุญาตเฉพาะทุเรียนแช่แข็ง) ตามประกาศศุลกากรแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2023 ว่าด้วยข้อกำหนดด้านการตรวจสอบกักกันโรคและศัตรูพืชในการนำเข้าทุเรียนสดของฟิลิปปินส์ ลงวันที่ 7 มกราคม 2566

เบื้องหลังความสำเร็จของการส่งออกทุเรียนฟิลิปปินส์ไปจีนเป็นผลมาจากการเดินทางเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ เมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการลงนามข้อตกลงด้านสุขอนามัยสำหรับการส่งออกทุเรียนสดฟิลิปปินส์ไปจีนระหว่างกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์กับสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน

2023 04 12 2 2
ทุเรียนฟิลิปปินส์ล็อตแรกถึงจีน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2566 ฟิลิปปินส์ได้ส่งออกทุเรียนล็อตแรกน้ำหนัก 18 ตัน ไปประเทศจีนเป็นผลสำเร็จผ่านท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิง (IATA: NNG) ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เที่ยวบินคาร์โก้ HT3834 ของสายการบินเทียนจินแอร์ไลน์ (Tianjin Airlines) ทำให้ “ทุเรียนสด” เป็นผลไม้ชนิดที่ 7 ที่ฟิลิปปินส์สามารถส่งออกผลไม้สดไปจีนได้ ต่อจากกล้วยหอม (75% ของการส่งออกผลไม้ไปจีน) สับปะรด มะม่วง มะละกอ มะพร้าว และอะโวคาโด

%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%992023 04 12 2
ทุเรียนฟิลิปปินส์ล็อตแรกถึงจีน

เจ้าหน้าที่บริษัท Guangxi Civil Aviation Industrial Development (广西民航产业发展有限公司) เปิดเผยว่า ทุเรียนฟิลิปปินส์ล็อตแรกนี้เป็นทุเรียนสายพันธุ์ Puyat ซึ่งมีเนื้อสีเหลืองทอง มีกลิ่นหอม และมีเนื้อสัมผัสที่ละเอียด โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสนามบินหนานหนิงได้ประสานความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกด้านการนำเข้าอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุเรียนยังคงความสดใหม่ขณะถึงมือผู้บริโภค

2023 04 12 5 768x512 1
ทุเรียน

หลายปีมานี้ จีนกับฟิลิปปินส์มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าที่ใกล้ชิดกันอย่างมาก โดยเฉพาะด้านสินค้าเกษตร โดยฟิลิปปินส์เป็นแหล่งนำเข้ากล้วยหอมและสับปะรดใหญ่ที่สุดของจีน และจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของฟิลิปปินส์ โดยสองฝ่ายเชื่อมั่นว่า การเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP อย่างเป็นทางการของฟิลิปปินส์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 (RCEP มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565) จะช่วยส่งเสริมกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าในระดับทวิภาคีจีน-ฟิลิปปินส์มีความใกล้ชิดและลึกซึ้งมากขึ้นอีกระดับ

จับตาความเคลื่อนไหวของทุเรียนฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์มีการปลูกทุเรียนใน 47 จังหวัด โดยมีเมืองดาเวา (Davao) เป็นแหล่งปลูกทุเรียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งทุเรียน” ของฟิลิปปินส์ เมืองแห่งนี้มีกำลังการผลิตทุเรียนได้ปีละราว 50,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนราว 78% ของผลผลิตทุเรียนทั้งหมดในประเทศ โดยผลผลิตทุเรียนในเมืองดาเวาจะออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคมของทุกปี (ไทย ช่วงเมษายน – กันยายน / เวียดนาม ช่วงพฤษภาคม – กรกฎาคม)

ที่ผ่านมา ภาครัฐของฟิลิปปินส์ได้ส่งเสริมให้ชาวสวนทุเรียนขยายการผลิตทุเรียนในประเทศ และเพิ่มกำลังการสนับสนุนให้กับเกษตรกรในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งด้านการสนับสนุนด้านเทคนิค การจัดหาวัสดุทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ตลอดจนการจัดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกหลังการเก็บเกี่ยว

โดยกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ ตั้งเป้าการส่งออกทุเรียนเกรดพรีเมียมไปยังประเทศจีนในปีนี้ให้ได้ 54,000 ตัน และผลักดันให้ทุเรียนสายพันธุ์ท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของฟิลิปปินส์ให้เป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ในอีก 5 ปีข้างหน้า อาทิ สายพันธุ์ Puyat สายพันธุ์ Duyaya และ สายพันธุ์ D101

ขณะเดียวกันสำนักงานเกษตรภูมิภาค กำลังดำเนินการตามแผนพัฒนา 5 ปี สำหรับอุตสาหกรรมทุเรียน ซึ่งจะเพิ่มการสนับสนุนด้านเทคนิค การจัดหาวัสดุปลูกที่มีคุณภาพ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อุปกรณ์และเครื่องมือ ตลอดจนการจัดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกหลังการเก็บเกี่ยว พร้อมคาดการณ์ว่าทุเรียนฟิลิปปินส์ จะเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของประเทศ ในอีก 5 ปีข้างหน้า

แน่นอนว่า… จีนเป็นจุดหมายการส่งออกทุเรียนของฟิลิปปินส์ เนื่องจากการบริโภคทุเรียนของชาวจีนมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี และด้วยฐานประชากรมากถึง 1/6 ของโลก จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า… จีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง โดยการนำเข้าทุเรียนของประเทศจีน ปี 2565 มีสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้

-ปริมาณการนำเข้า 824,888 ตัน เพิ่มขึ้น 0.4% (YoY) มูลค่าการนำเข้า 26,878 ล้านหยวน ลดลง 1.25% พอประเมินได้ว่า การดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ในผลไม้สดที่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีความเข้มงวดอย่างมากเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การนำเข้าทุเรียนสดชะลอตัว

-5 อันดับมณฑลที่มีปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดมากที่สุด ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง (สัดส่วนต่อทั้งประเทศ 39.50%) มณฑลยูนนาน (14.12%) นครฉงชิ่ง (10.89%) เขตฯ กว่างซีจ้วง (10.88%) และมณฑลเจ้อเจียง (10.79%)

-แหล่งนำเข้าทุเรียน ได้แก่ ไทย (สัดส่วน 95.05% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด) และเวียดนาม (4.95%)

-5 อันดับมณฑลที่มีปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดจาก “ประเทศไทย” มากที่สุด ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง (สัดส่วนต่อทั้งประเทศ 40.79%) มณฑลยูนนาน (14.81%) นครฉงชิ่ง (11.23%) มณฑลเจ้อเจียง (10.14%) และเขตฯ กว่างซีจ้วง (9.37%)

-5 อันดับมณฑลที่มีปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดจาก “เวียดนาม” มากที่สุด ได้แก่ เขตฯ กว่างซีจ้วง (สัดส่วนต่อทั้งประเทศ 39.83%) มณฑลเจ้อเจียง (23.12%) มณฑลกวางตุ้ง (14.74%) มณฑลเจียงซู (9.49%) และมณฑลฝูเจี้ยน (5.38%)

ศูนย์ฺข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน เห็นว่า ตลาดทุเรียนของจีนจะมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าในระยะใกล้ การส่งออกทุเรียนของฟิลิปปินส์ไปยังจีนจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกทุเรียนไทย เนื่องจากฟิลิปปินส์ยังมีกำลังการผลิตไม่สูง รวมถึงอุปสรรคในการขนส่ง (ทางเรือใช้เวลา และทางเครื่องบินมีต้นทุนสูง)

นอกจากฟิลิปปินส์แล้ว  “ทุเรียนญวน”  เป็นอีกหนึ่งคู่แข่งที่น่าจับตามอง แม้ว่าเวียดนามเพิ่งจะส่งออกทุเรียนล็อตแรกเข้าจีน (ผ่านด่านทางบกโหย่วอี้กวานของกว่างซี) ได้ในช่วงเดือนกันยายน 2565 แต่ระยะเวลาสั้นๆ เพียง 3 เดือน ทุเรียนเวียดนามก็สามารถเข้ามาชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของทุเรียนไทยในจีนไปได้เกือบ 5%

เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศเพื่อนบ้านจีน มีพรมแดนติดกับเขตฯ กว่างซีจ้วง และมณฑลยูนนาน จึงมีความได้เปรียบด้านการขนส่งและต้นทุนรวม ด้วยระยะทางการขนส่งที่สั้น ซึ่งช่วยให้ผลไม้คงความสดใหม่ได้มากกว่าไทย แถมยังมีฤดูเก็บเกี่ยวที่ค่อนข้างยาว ได้ผลผลิตต่อปีค่อนข้างสูง ในอนาคต สงครามราคา อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

แนวทางการปรับตัวของประเทศไทย คือ ท่ามกลางคู่แข่งที่กำลังแข็งแกร่งมากขึ้น ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ผลไม้ไทยต้องร่วมกันเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์การค้าผลไม้ของประเทศคู่แข่ง ยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการของสวนผลไม้(ทุเรียน)และโรงคัดบรรจุทุเรียนไทยที่จะส่งออกไปจีนให้ได้คุณภาพความปลอดภัย ปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชในพิธีสารฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของทุเรียนไทย

การประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคชาวจีนเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับรสชาติและเนื้อสัมผัสของทุเรียนไทยที่แตกต่างจากทุเรียนของชาติอื่น และการส่งเสริมการรับรู้และสร้างการจดจำในตัวทุเรียนไทยสายพันธุ์อื่นที่มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดจีน โดยอาจพิจารณาใช้วิธีการสร้างเรื่องเล่า (storytelling) ให้กับทุเรียน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุเรียนไทยเหมือนอย่างที่ทุเรียนมูซังคิงของมาเลเซียประสบความสำเร็จมาแล้วในการทำตลาดไฮเอนด์ในจีน

การพัฒนาช่องทางการขนส่งที่หลากหลายนอกเหนือจากการขนส่งด้วยรถบรรทุก เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินค้า ณ ด่านใดด่านหนึ่ง ซึ่งอาจส่งผลให้ผลไม้สดได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะในช่วงฤดูเกี่ยวกับทุเรียนของเวียดนาม ซึ่งทุเรียนไทยอาจต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NBT) สำหรับการส่งออกทุเรียนไทยผ่านเวียดนามไปยังตลาดจีน โดยอาจพิจารณาการขนส่งทางรถไฟ (สถานีด่งดัง เวียดนาม – ด่านรถไฟผิงเสียง เขตฯ กว่างซีจ้วง ก่อนกระจายทั่วประเทศจีน) ทางเรือ (ท่าเรือแหลมฉบัง – ท่าเรือชินโจว เขตฯ กว่างซีจ้วง) และทางอากาศ (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – ท่าอากาศยานนานชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง)

การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม e-Commerce ยักษ์ใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น JD.com / Taobao.com และแพลตฟอร์ม Live streaming ไลฟ์ขายของสดที่ได้รับความนิยม เช่น Tiktok  หรือ Taobao รวมถึงพิจารณาใช้บริษัทที่มีระบบการบริหารจัดการด้านขนส่งและโลจิสติกส์ที่รวดเร็ว เช่น SF Express

ที่มา :ศูนย์ฺข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน