อนาคตถนนสาย R3A หลังรถไฟจีน-ลาวขนส่งผลไม้เข้าจีนผ่านด่านรถไฟโม่ฮานได้…ยังเป็นคงเป็นเส้นทางหลักหรือไม่

การประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ของรัฐบาลจีนในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนมกราคม 2566 ไม่เพียงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดกว้างให้ประชาชนสามารถเดินทางระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้วย เพราะเท่ากับเป็นการยกเลิกขั้นตอนการตรวจกรดนิวคลีนิกเพื่อหาเชื้อโรคโควิด-19 ที่อาจปะปนมากับสินค้า จึงสามารถช่วยลดต้นทุนในการขนส่งด้านเวลาและค่าใช้จ่ายได้

รวมทั้งยังเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทย ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าสู่ช่วงที่ผลไม้เมืองร้อนทยอยเข้าสู่ท้องตลาด โดยผลผลิตส่วนหนึ่งถูกส่งออกไปยังประเทศจีน เนื่องจากผลไม้ไทยเป็นสินค้าศักยภาพที่ประเทศจีนต้องการสูง โดยเฉพาะผลไม้จำพวกทุเรียน มังคุด มะพร้าว ลำไย สับปะรด และส้มโอ โดยจีนเป็นผู้นำเข้าผลไม้จากประเทศไทย สูงเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยชิลี เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ทุเรียนยังครองอันดับ 1 ของมูลค่าผลไม้ที่นำเข้ามาในจีน โดยทุเรียนไทยครองสัดส่วนถึงร้อยละ 95 ตามมาด้วยเชอร์รี่ กล้วย มังคุด และมะพร้าว

ช่องทางการขนส่งผลไม้จากประเทศไทยสู่มณฑลยูนนาน

สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (General Administration of Customs of the People’s Republic  of China: GACC) มีนโยบายในการกำหนด “ด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าสินค้าควบคุม” เช่น ผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ ไม้ สัตว์น้ำเพื่อการบริโภค สินค้าประมงแช่เย็น และต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์พืช เป็นต้น

โดยในส่วนของมณฑลยูนนาน ปัจจุบัน มีด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้ รวม 9 แห่ง ประกอบด้วย

– ด่านทางอากาศ ได้แก่ ด่านท่าอากาศยานนานาชาติฉางสุ่ยนครคุนหมิง

– ด่านทางบกบริเวณชายแดนจีน-เวียดนาม ได้แก่ ด่านเหอโข่ว และด่านเทียนเป่า

– ด่านทางบกบริเวณชายแดนจีน-เมียนมา ได้แก่ ด่านต่าลั่ว ด่านจางเฟิ่ง ด่านหว่านติง และด่านโหวเฉียว

– ด่านทางบกบริเวณชายแดนจีน-ลาว ได้แก่ ด่านโม่ฮาน และด่านรถไฟโม่ฮาน

ทั้งนี้ หากอ้างอิงตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน (พิธีสารฯ) ซึ่งในส่วนของมณฑลยูนนานกำหนดให้ด่านโม่ฮาน ด่านรถไฟโม่ฮาน ด่านเหอโข่ว ด่านรถไฟเหอโข่ว และด่านเทียนเป่าสามารถนำเข้าผลไม้ไทยที่ขนส่งทางบกผ่านประเทศที่สามได้

ในทางปฏิบัติ ไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปจีนผ่านมณฑลยูนนานได้ 5 ช่องทาง ได้แก่ (1) ด่านท่าอากาศยานนานาชาติฉางสุ่ยนครคุนหมิงซึ่งเป็นการขนส่งโดยตรงโดยไม่ผ่านประเทศที่สาม (2) ด่านโม่ฮาน (3) ด่านรถไฟโม่ฮาน (4) ด่านเหอโข่ว และ (5) ด่านเทียนเป่า โดยปัจจุบัน ทุกช่องทางข้างต้นมีการนำเข้าผลไม้ไทย ยกเว้นด่านเทียนเป่าขณะที่ ด่านรถไฟเหอโข่วยังไม่สามารถนำเข้าผลไม้ไทยได้ แม้ว่าด่านรถไฟเหอโข่วจะถูกระบุในพิธีสารฯ แต่จนถึงปัจจุบัน GACC ยังไม่ได้ประกาศรับรองให้ด่านรถไฟเหอโข่วเป็นด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้

%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88
แผนผังถนนสาย R3A-เส้นทางรถไฟจีน-ลาว

สถานการณ์การค้าผลไม้ไทย-ยูนนานผ่านด่านโม่ฮาน

ผลไม้เป็นสินค้าที่มณฑลยูนนานมีมูลค่าการนำเข้าจากไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องกันมานานหลายปี  โดยปี 2565 มณฑลยูนนานนำเข้าผลไม้ไทยคิดเป็นมูลค่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 32.6 และคิดเป็นร้อยละ 79 ของปริมาณการนำเข้าสินค้าไทยทั้งหมด ในจำนวนนี้ ทุเรียนครองสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 64.6 หรือคิดเป็นมูลค่า 582 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 80.3 ตามมาด้วยมังคุด ลำไย ส้มโอ ขนุน และสับปะรด ส่งผลให้มณฑลยูนนานเป็นมณฑลที่นำเข้าผลไม้ไทยมากที่สุดเป็นอันดับสองของจีน รองจากมณฑลกวางตุ้งเท่านั้น

%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88 1
ถนนสาย R3A-เส้นทางรถไฟจีน-ลาว

ด่านโม่ฮานเป็นช่องทางที่มีการนำเข้าผลไม้ไทยมากที่สุดในบรรดาด่านทั้งหมดของมณฑลยูนนานที่สามารถนำเข้าผลไม้ไทยได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้ ตู้คอนเทนเนอร์ผลไม้ออกจากประเทศไทยที่ด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย – ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 เข้าลาวที่ด่านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว – เปลี่ยนไปใช้รถหัวลากลาว – เดินทางระยะทาง 247 กิโลเมตรไปยังด่านบ่อเต็น – เปลี่ยนไปใช้รถหัวลากจีน – เดินทางผ่านด่านโม่ฮานเข้าจีน

แม้กระทั่งในช่วงระหว่างปี 2563-2566 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ปริมาณผลไม้ไทยที่นำเข้าผ่านด่านโม่ฮานก็ยังมีการขยายตัวประมาณร้อยละ 20 ต่อเนื่องทุกปี โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณผลไม้ไทยที่นำเข้าผ่านด่านโม่ฮานมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปีในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่ สถานการณ์โรคระบาดและมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ส่งผลให้เกิดอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้าข้ามแดน โดยเฉพาะช่องทางด่านชายแดนเวียดนาม-จีนซึ่งเดิมในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดเป็นช่องทางที่จีนนำเข้าผลไม้ไทยและผลไม้เวียดนามจำนวนมากเกิดประสบปัญหาการจราจรแออัดและติดขัดจนทำให้ผลไม้เกิดการเน่าเสีย ในขณะที่ผู้บริโภคชาวจีนยังคงมีความต้องการบริโภคผลไม้ไทยอยู่ในระดับสูงอยู่ ผู้ประกอบการผลไม้ไทยจึงได้เปลี่ยนเส้นทางการขนส่งโดยส่วนหนึ่งใช้การขนส่งทางทะเลไปยังมณฑลกวางตุ้งและอีกส่วนหนึ่งใช้การขนส่งทางบกผ่านถนน R3A เข้ามณฑลยูนนานที่ด่านโม่ฮาน

การขนส่งผลไม้ไทยผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

นอกจากด่านโม่ฮานซึ่งเป็นช่องทางหลักของมณฑลยูนนานในการนำเข้าผลไม้ไทยในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 มณฑลยูนนานได้เปิดใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาว พร้อมด่านรถไฟโม่ฮานเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าข้ามแดน อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกด่านรถไฟโม่ฮานยังคงไม่สามารถนำเข้าผลไม้ได้ จนกระทั่งวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เมื่อ GACC ได้ประกาศให้ด่านรถไฟโม่ฮานเป็น “ด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้” อย่างเป็นทางการ

โดยมีขั้นตอน ดังนี้ ตู้คอนเทนเนอร์ผลไม้ออกจากประเทศไทยโดยรถบรรทุกหรือรถไฟที่ด่านหนองคาย จังหวัดหนองคาย – ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 เข้าลาวที่ด่านท่านาแล้ง-ท่าบกท่านาแล้ง – เปลี่ยนไปใช้รถหัวลากลาว – นำตู้คอนเทนเนอร์ผลไม้จากท่าบกท่านาแล้งไปส่งที่สถานีรถไฟขนส่งสินค้าเวียงจันทน์ใต้ – ขนส่งโดยระบบราง à ผ่านด่านรถไฟบ่อเต็น-ด่านรถไฟโม่ฮานเข้าจีน

นับจนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2566 ด่านรถไฟโม่ฮานได้มีการนำเข้าผลไม้โดยรถไฟ 22 ครั้ง รวม 157 ตู้ รวม 3,675 ตัน ได้แก่ ทุเรียน 4 ตู้ ลำไย 90 ตู้ กล้วย 53 ตู้ และอื่น ๆ (ส้มโอ มะพร้าว มะม่วง) 10 ตู้ ปัจจุบันมีขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างจีน-ลาวผ่านเข้า-ออกด่านรถไฟโม่ฮานวันละ 7 คู่ (ตู้สินค้าธรรมดาและตู้สินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ)

เปรียบเทียบศักยภาพในการขนส่งผลไม้ไทยระหว่าง “ถนนสาย R3A”(ซึ่งเป็นเส้นทางสายไหมเชื่อมโยงระหว่าง จีน-ลาว-ไทย) กับ “เส้นทางรถไฟจีน-ลาว”

การใช้รถไฟจีน-ลาวขนส่งผลไม้ไทยเข้ามณฑลยูนนานผ่านด่านรถไฟโม่ฮาน ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการขนส่งให้แก่ผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม พบว่าการขนส่งผลไม้ไทยโดยรถไฟจีน-ลาวยังคงมีอุปสรรคหลายประการ เช่น (1)  ต้นทุนราคาค่าขนส่งที่ค่อนข้างสูง (2) การเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างระบบรางและถนนหลายครั้ง   (3) ความไม่ราบรื่นในการขนถ่ายตู้สินค้าระหว่างท่าบกท่านาแล้งกับสถานีรถไฟเวียงจันทน์แม้ว่ามีการเชื่อมรางรถไฟระหว่างกันแต่ก็ยังไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากผลประโยชน์ไม่ลงตัว และ (4) ความไม่สมดุลระหว่างขบวนรถไฟและตู้สินค้ากับปริมาณสินค้า เป็นต้น

ส่วนการขนส่งด้วยรถบรรทุกผ่านถนนสาย R3A แม้จะต้องเปลี่ยนหัวรถลากไทย-ลาว-จีน แต่ไม่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง ซึ่งช่วยลดขั้นตอนการขนถ่ายสินค้าและลดความเสี่ยงที่ผลไม้จะบอบช้ำ อีกทั้งการกระจายสินค้าผลไม้ภายในมณฑลยูนนานและจากมณฑลยูนนานไปยังมณฑลใกล้เคียง ก็นิยมใช้การขนส่งด้วยรถบรรทุกมากกว่าระบบราง เนื่องจากสามารถขนส่งโดยรถบรรทุกไปยังตลาดค้าส่งได้โดยตรง ขณะที่การขนส่งด้วยระบบราง แม้จะมีความรวดเร็วในการขนส่งแต่ก็จำเป็นต้องรอให้สินค้ามีปริมาณมากเต็มขบวน และเมื่อเดินทางถึงสถานีปลายทางแล้ว ยังต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าใส่รถบรรทุกเพื่อขนส่งไปยังตลาดค้าส่งปลายทางอีกทอดหนึ่งอยู่ดี

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าส่งผลไม้ไทยในมณฑลยูนนานส่วนใหญ่ เห็นว่า การขนส่งผลไม้ไทยผ่านถนนสาย R3A มีข้อได้เปรียบและความคุ้มค่ามากกว่าการขนส่งผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว รวมทั้ง ในอนาคต หากมีทางด่วนบ่อเต็น-ห้วยทราย ระยะทาง 175.97 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งเหลือ 1.30 ชั่วโมง แม้จะมีต้นทุนค่าบริการผ่านทางเพิ่มขึ้นมา ก็เป็นต้นทุนที่ยอมรับได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการประหยัดเวลา

แม้ว่าการขนส่งผลไม้ไทยผ่านถนนสาย R3A จะมีข้อได้เปรียบและความคุ้มค่ามากกว่าการขนส่งผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดใช้ทางด่วนบ่อเต็น-ห้วยทรายในอนาคต จะช่วยร่นระยะเวลาในการขนส่งได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาและเตรียมการล่วงหน้า กล่าวคือ ปัญหาการจราจรติดขัดที่อาจเกิดขึ้นได้หากขีดความสามารถในการระบายรถบรรทุกสินค้าระหว่างด่านบ่อเต็น-ด่านโม่ฮานไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ด่านโม่ฮานได้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าข้ามแดนแล้ว โดยระยะที่ 1 ได้ปรับระบบจราจรให้รถบรรทุกสินค้าขาออกไปใช้ช่องทางผ่านแดนสำหรับรถบรรทุกสินค้าแห่งใหม่ที่หลักหมุดฯ หมายเลข 29/3 ขณะที่ช่องทางผ่านแดนสำหรับรถบรรทุกสินค้าแห่งเดิมที่หลักหมุดฯ หมายเลข 29 จะใช้สำหรับรถบรรทุกสินค้าขาเข้าเท่านั้น ส่งผลให้ช่องทางหลักหมุดฯ หมายเลข 29 มีช่องจราจรขาเข้า 2 ช่องทาง จากเดิมที่เป็นช่องจราจรขาเข้าและขาออกอย่างละ 1 ช่องจราจร เพื่อรองรับรถบรรทุกสินค้าขาเข้าจากลาวได้มากขึ้น

ในระยะที่ 2 จะดำเนินการขยายช่องทางผ่านแดนสำหรับรถบรรทุกสินค้าแห่งเดิมที่หลักหมุดฯ หมายเลข 29 ให้มีช่องจราจรขาเข้าและขาออกอย่างละ 5 ช่องจราจร รวมทั้ง ขยายพื้นที่ลานสินค้าของด่านโม่ฮาน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566

จากนั้นระยะที่ 3 จะปรับให้รถบรรทุกสินค้าทั้งหมดกลับไปผ่านเข้า-ออกที่ช่องทางผ่านแดนหลักหมุดฯ หมายเลข 29 ขณะที่พื้นที่ในเขตรั้วล้อมรอบช่องทางผ่านแดนบริเวณโดยรอบหลักหมุดฯ หมายเลข 29/3 จะพัฒนาเป็นช่องทางผ่านแดนสำหรับการท่องเที่ยวข้ามแดน การค้าปลอดภาษี และตลาดการค้าชายแดนด่านโม่ฮานต่อไป

จากแนวโน้มปริมาณการนำเข้าสินค้าเกษตรผ่านด่านโม่ฮานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กอปรกับแนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาวของด่านโม่ฮาน สรุปว่า แม้จะมีการใช้รถไฟจีน-ลาวขนส่งผลไม้ไทยเข้ามณฑลยูนนานผ่านด่านรถไฟโม่ฮาน แต่ถนนสาย R3A และด่านโม่ฮานยังคงเป็นช่องทางหลักสำหรับนำเข้าสินค้าเกษตรจากลาวและผลไม้ไทย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เป็นฤดูเก็บเกี่ยวและส่งออกสินค้าเกษตรของลาวและไทย ส่งผลให้ในเดือนเมษายน 2566 มีปริมาณรถมากกว่าปกติจนมีสินค้าตกค้างในฝั่งลาว ซึ่งล่าสุดฝ่ายจีน-ลาวได้ตกลงร่วมกันในการขยายเวลาทำการในแต่ละวันจนถึงเวลา 20.30 น. ต่อเนื่องไปจนกว่าจะระบายรถสินค้าที่ตกค้างได้หมด

 

ที่มา :ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน