ทัพ ‘ทุเรียนไทย’ บุกตลาดจีน ยอดขายพุ่งทะยาน

ตลาดค้าส่งผลไม้หนานหนิง ไห่จี๋ซิง ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งผลไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน มีชีวิตชีวาตั้งแต่ยามเช้ามืด รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์คันใหญ่วิ่งเข้าออกและหยุดจอดขนถ่ายสินค้าหน้าแผงทุเรียน โดยมีผู้ซื้อจับกลุ่มรออยู่ก่อนแล้ว

บรรดาพ่อค้าแม่ขายรายใหญ่ต่างคึกคักกระปรี้กระเปร่าหลังจากเข้าสู่ “ฤดูทุเรียน” ซึ่งปีนี้ทุเรียนไทยบุกตลาดจีนเร็วกว่าปีก่อน โดยทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรีจะถูกเก็บเกี่ยวและขนส่งถึงชั้นวางสินค้าของซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วแผ่นดินใหญ่ของจีนภายในเวลาเพียงราวหนึ่งสัปดาห์

IMG 3655

ตัวอย่างเช่น “ทุเรียนซีพี เฟรช” (CP Fresh) ถูกขนส่งถึงจีนและกระจายสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่หลายแห่งอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อทุเรียนคุณภาพดีและสดใหม่ที่สุด โดยซีพีเอฟ (CPF) จัดสารพัดกิจกรรมส่งเสริมการขายทุเรียนหมอนทองหอมหวาน ดึงดูดผู้บริโภคมาซื้อไม่ขาดสาย

“ทุเรียนซีพีมีคุณภาพสูง รสชาติดี แถมมีการชดเชยและสับเปลี่ยนถ้าเจอทุเรียนลูกที่ไม่ดี ทำให้เลือกซื้อได้อย่างสบายใจ” ชายแซ่ลู่ ชาวนครหนานหนิงของกว่างซีกล่าว

เหลียงซูถิง ประธานซีพีเอฟ สาขาหนานหนิง เผยว่ายอดจำหน่ายทุเรียนเฉลี่ยรายวันช่วงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสูงเกิน 100 กล่อง โดยหลายปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้พัฒนาการจัดการห่วงโซ่อุตสาหกรรมทุเรียนแบบครบวงจร กำหนดมาตรฐานของสินค้า ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเหมือน “รับประทานทุเรียนกลางสวนในไทย”

IMG 3654

อนึ่ง จีนเป็นตลาดผู้บริโภคทุเรียนขนาดใหญ่และปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยทุเรียนครองตำแหน่ง “ราชาผลไม้นำเข้า” ของจีนตั้งแต่ปี 2019 และปริมาณการนำเข้าในปี 2022 สูงถึง 8.25 แสนตัน มูลค่า 4.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.36 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นทุเรียนไทยถึง 7.8 แสนตัน

กวนฉ่ายเสีย ผู้ค้าขายทุเรียนมานานหลายปี และเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างแบรนด์ ได้ร่วมมือกับโรงงานไทยในการออกแบบแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ โดยมีการใช้อักษรจีน “ปั้ง” (棒) ตัวใหญ่เตะตาบนกล่องทุเรียน ซึ่งกวนชี้ว่าสอดคล้องกับคุณภาพ “ยอดเยี่ยม” ของทุเรียนไทย

การคลุกคลีอยู่กับการค้าขายทุเรียนไทยมานานถึง 20 ปี ทำให้กวนได้เห็นการเติบโตของทุเรียนไทยในจีน และเชื่อว่าทุเรียนไทยจะยังคงเป็นทุเรียนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนที่ครองส่วนแบ่งมากที่สุดในตลาดจีน รวมถึงมีข้อได้เปรียบจากความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

IMG 3652

ข้อมูลจากตลาดฯ ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ค้าส่งทุเรียนในตลาด 32 ราย ยอดค้าส่งในปีก่อนอยู่ที่ 24,000 ตันส่วนยอดจำหน่ายในปีนี้อยู่ที่ 17,000 ตัน เมื่อนับถึงวันที่ 5 พ.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 4 เท่า โดยทุเรียนหมอนทองของไทยมียอดจำหน่ายสูงสุด

โม่เจียหมิง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท กว่างซี โยวเซียนหยวน อะกรีคัลเจอรัล เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลไม้อาเซียนสู่จีนจำนวนมาก เผยว่าทุเรียนจากภาคตะวันออกของไทยมียอดจำหน่ายดีมากแต่ละวันนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ 5-6 ตู้ บางช่วงสูงถึง 10 ตู้ และอาจสูงขึ้นอีกในอนาคต

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานผลไม้อาเซียนอย่างทุเรียน มะพร้าว และลำไย โดยบริษัทฯทำการค้าส่ง การจำหน่ายผ่านไลฟ์สตรีมมิง และการวางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักอย่างมาก ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าทุเรียนเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

“ปีนี้บริษัทฯ วางแผนนำเข้าทุเรียนจากภาคตะวันออกของไทยราว 15,000-20,000 ตัน หรืออาจแตะ25,000 ตัน” โม่กล่าว

IMG 3653

แต่ละปีทุเรียนไทยเริ่มส่งออกสู่ตลาดจีนในเดือนเมษายน และพุ่งแตะระดับสูงสุดช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม

“ครอบครัวของผมซื้อทุเรียนหมอนทองของไทยเป็นประจำ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ชอบรับประทานกันมากราคาและคุณภาพของทุเรียนในปีนี้น่าพอใจมากๆ จนอาจจะได้ซื้อบ่อยขึ้น” เหลียงเจ๋อหลิน ชาวเมืองหนานหนิงกล่าว

เฮ่อเยี่ยน รองผู้จัดการร้านค้าปลีกแซมส์คลับ เผยว่าสินค้าทุเรียนเป็นที่ต้องการมากทุกวัน โดยทุเรียนที่ขนส่งมาถึงใหม่ๆ มักจะขายหมดภายในครึ่งวัน ทำให้ร้านค้าต้องกำหนดเพดานการซื้อของลูกค้าแต่ละคน ซึ่งแห่มาซื้อกันตั้งแต่หัววัน

“ปีนี้ทุเรียนได้รับความนิยมอย่างมาก มีราคาเหมาะสม ครอบครัวทั่วไปล้วนอยากซื้อไปรับประทาน” จางอี้เฉียว จากบริษัท การค้านำเข้าและส่งออกหนานหนิง เจี๋ยรุ่ย จำกัด กล่าว โดยบริษัทฯ ยังทำธุรกิจค้าส่งทุเรียนในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเมืองเจียซิงของเจ้อเจียงด้วย

IMG 3649

จางกล่าวว่าหากดูจากตลาดหลายแห่งพบยอดจำหน่ายทุเรียนเพิ่มขึ้น แต่ละวันบริษัทฯ สามารถจัดจำหน่ายทุเรียนตามตลาดแห่งต่างๆ ราว 3-4 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเมื่อเทียบปีต่อปี และทุเรียนหมอนทองขายดีที่สุด ส่วนทุเรียนกระดุมทองราคาแพงกว่าแต่ก็ขายดีเช่นกัน

ทั้งนี้ “ทุเรียน+มังคุด” เป็นผลไม้ที่มักขายได้คู่กันตามตลาดหลายแห่ง โดยลูกค้าที่มาซื้อทุเรียนมักซื้อมังคุดด้วย โดยจางอธิบายว่าชาวจีนตอนใต้ไม่น้อยมองว่าทุเรียนเป็นผลไม้ฤทธิ์ร้อน การรับประทานมังคุดที่เป็นผลไม้ฤทธิ์เย็นจะช่วยลดฤทธิ์ร้อนดังกล่าว

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุเรียนอาเซียนได้เข้าสู่ตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันแหล่งทุเรียนนำเข้าหลักได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ขณะเดียวกันผู้บริโภคชาวจีนมองหาทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ๆมาลองลิ้มชิมรสชาติกันเพิ่มขึ้นด้วย

IMG 3650

ด้านโม่เจียหมิงเสริมว่าบริษัทฯ มุ่งปรับปรุงโครงสร้างผลิตภัณฑ์ มีการลงทุนจัดตั้งโรงงานรับซื้อทุเรียนในเวียดนาม 2 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินงานเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ และหลังจากหมดฤดูทุเรียนตะวันออกของไทย จะหันไปนำเข้าทุเรียนเหนือและทุเรียนใต้ของไทย ควบคู่กับทุเรียนเวียดนามบางส่วน

การก่อสร้างระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศใหม่ เส้นทางตะวันตก การเปิดใช้ทางรถไฟจีน-ลาว และการมีผลบังคับใช้ของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในช่วงไม่นานนี้ ช่วยพัฒนาระบบโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนเพิ่มขึ้นและเกื้อหนุนการค้าข้ามภูมิภาค

ตัวอย่างเช่น “ทุเรียนไทย” นอกจากถูกนำเข้าสู่จีนทางอากาศ ยังมีการนำเข้าทางบก รวมถึงทางทะเลจากท่าเรือแหลมฉบังของจังหวัดชลบุรีไปยังท่าเรือชินโจวของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และท่าเรือหนานซาของมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) อีกด้วย

IMG 3651

“ยามสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ทั่วโลกทยอยคลี่คลาย มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของพิธีการศุลกากรขาเข้า-ขาออก ช่วยให้ทุเรียนเข้าสู่ตลาดอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น” กวนฉ่ายเสียกล่าว พร้อมเสริมว่ามีการนำเข้าทุเรียนผ่านด่านบกโหย่วอี้ในกว่างซี ซึ่งถูกขนส่งต่อทางถนนและทางรางในจีน

ปัจจุบันทุเรียนกลายเป็นผลไม้ที่เข้าถึงหลายครอบครัวทั่วไปในจีน แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่มีผู้บริโภคกระจุกตัวอยู่เป็นกลุ่มเล็กเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดเป็นผลจากการพัฒนาการค้าเสรีและการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

IMG 3648

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว(Xinhua)