จับตาพัฒนาการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของกว่างซี โอกาสของผู้ประกอบการไทย

การคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์เป็นตัวจักรที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หลายมณฑลในจีนตะวันตก(และจีนตอนกลาง) จึงได้ร่วมกันพัฒนาและใช้ประโยชน์จากระเบียงขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก หรือที่เรียกสั้นๆว่า NWLSC (New Western Land and Sea Corridor) เพื่อสร้างช่องทางการค้า(ใหม่)กับต่างประเทศ

บางท่านอาจสงสัยว่า ระเบียง NWLSC คืออะไร หากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ระเบียง NWLSC คือ กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาและยกระดับการเปิดสู่ภายนอกเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลทางภาคตะวันตกของจีน ผ่านการบูรณาการความร่วมมือและอำนวยความสะดวกด้านระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ในทุกมิติ โดย “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” ถือเป็นหนึ่งใน  ‘ผู้เล่น’ ตัวสำคัญของระเบียง NWLSC จากข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้และเมืองชายแดนติดประเทศเวียดนาม จึงเป็นเสมือน ‘ข้อต่อ’ และ ‘ประตู’ บานสำคัญที่ใช้เชื่อมพื้นที่จีนตอนในกับต่างประเทศ

%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%8B%E0%B8%B5 2
พัฒนาการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของกว่างซี

พัฒนาการของระเบียง NWLSC ในเขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นอย่างไร หลังจากที่ในปี 2564 รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศแผนปฏิบัติการยกระดับระเบียงขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2564 – 2566) เพื่อมุ่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในทุกมิติ ทั้งการขนส่งทางเรือ ทางรถไฟ ทางถนน และทางแม่น้ำ เพื่อเสริมสร้างบทบาทการเป็น “พื้นที่แห่งโอกาส” ในการพัฒนาความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกกับอาเซียน และการเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI)

กล่าวได้ว่า… ‘เบิกฤกษ์’ ได้สวยตั้งแต่ต้นปี 2566 สำหรับเขตฯ กว่างซีจ้วงในการพัฒนาระเบียง NWLSC ที่มีคุณภาพสูง จากข้อมูลพบว่า ในไตรมาสแรก ปี 2566 เขตฯ กว่างซีจ้วงใช้เงินลงทุนในโปรเจกต์สำคัญภายใต้กรอบระเบียง NWLSC แล้ว 19,941 ล้านหยวน

การขนส่งทางทะเล ในไตรมาสแรก ปี 2566 กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีปริมาณขนถ่ายสินค้ารวม 68.77 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้ เป็นปริมาณตู้สินค้า 1.612 ล้าน TEUs เพิ่มขึ้น 14.7%มีเส้นทางเดินเรือขนส่งตู้สินค้า 75 เส้นทาง ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางเดินเรือกับอาเซียน 34 เส้นทาง รวมถึงประเทศไทยด้วย

การขนส่งทางรถไฟ ปัจจุบัน รถไฟขนส่งสินค้าที่กว่างซี สามารถวิ่งไปยัง 115 สถานีใน 60 เมืองใน 17 มณฑล(และเขตการปกครองระดับเทียบเท่ามณฑล) ทั่วประเทศ ทั้งนี้ การขนส่งทางรถไฟของกว่างซีแบ่งได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ

(1) ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อม ‘เรือ+ราง’ ภายในท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ในไตรมาสแรก ปี 2566 มีรถไฟวิ่งให้บริการสะสม 2,169 เที่ยวขบวน เพิ่มขึ้น 25% ทั้งนี้ นับตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 มีขบวนรถไฟขนส่ง “เรือ+ราง” วิ่งให้บริการสะสมมากกว่า 25,000 เที่ยวขบวน (เป้าหมายปี 2566 มีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้าทะลุ 8 ล้าน TEUs เที่ยวรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อม ‘เรือ+ราง’  9,000 เที่ยว)

(2) ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน(กว่างซี)-เวียดนาม ผ่านด่านรถไฟผิงเสียง เป็นช่องทางการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างจีนกับอาเซียนที่มีความสะดวกรวดเร็วมากที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงสินค้าผลไม้สดด้วย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา บริษัท China Railway Nanning Group Co., Ltd. ได้พัฒนารูปแบบการขนส่งทางรถไฟที่เรียกว่า “8+1” โดยนำ “เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซล”(ลักษณะเป็นตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต) มาติดตั้งแบบถาวรที่โบกี้ช่วงกลางของขบวนรถไฟ ซึ่งสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับระบบทำความเย็นของตู้คอนเทนเนอร์เย็น หรือ Reefer container 8 ตู้ได้ต่อเนื่อง 300 ชั่วโมง (เดิมที ขบวนรถไฟตู้คอนเทนเนอร์เย็นจะต้องชาร์จไฟฟ้าเพื่อทำความเย็นทุก 4 ชั่วโมง)

ตามรายงาน เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 บริษัท CP Fresh ได้นำเข้าทุเรียนและมังคุดไทย น้ำหนัก 212 ตัน ผ่านด่านรถไฟผิงเสียง “หลังจากที่ได้ทดลองใช้แล้ว รู้สึกได้ถึงความสะดวกในการขนส่งและการผ่านพิธีการศุลกากร ผลไม้ล็อตแรกที่ออกจากล้งในไทยขนส่งไปถึงตลาดในมณฑลกวางตุ้งใช้เวลาเพียง 5 วันเท่านั้น ปัจจุบัน CP Fresh และบริษัทการรถไฟได้ลงนามข้อตกลงด้านการขนส่งประจำปี ขบวนรถไฟแบบเที่ยวประจำในแต่ละวันสามารถขนส่งผลไม้ได้มากสุดถึง 30 TEUs ทั้งนี้ บริษัทฯ หวังที่จะพัฒนาความร่วมมือเชิงลึกเพื่อยกระดับปริมาณการขนส่งให้เพิ่มมากขึ้นด้วย” คุณเจียง เทียนจี้ (Jiang Tianji/江天霁) ผู้รับผิดชอบแบรนด์ CP Fresh ให้ข้อมูล

การขนส่งทางอากาศ ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิง (IATA: NNG) พัฒนาสู่การเป็น ‘ฮับ’ ขนส่งสินค้าทางอากาศอย่างรวดเร็ว เริ่มการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 (T3) และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นปี 2566 เพื่อรองรับการขยายตัวของสินค้าและผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน สนามบินหนานหนิงมีศักยภาพรองรับการขนถ่ายสินค้าได้ 350,000 ตัน ด่านสนามบินหนานหนิงได้รับอนุญาตให้สามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำมีชีวิตและสัตว์น้ำแช่แข็ง สัตว์น้ำมีชีวิตเพื่อการบริโภค และผลไม้(สด) ได้ มีเครื่องบินสินค้าประจำการอยู่ 6 ลำ มีเที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (International Air Cargo) ไปยัง 12 เมืองใน 8 ประเทศ ครอบคลุมประเทศสมาชิกอาเซียนและเอเชียใต้

การขนส่งทางบก เป็นที่ทราบกันดีว่า ผลไม้จากอาเซียน โดยเฉพาะทุเรียนและลำไยของไทยได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภคชาวจีน ในอดีต ทุเรียนไทยส่วนใหญ่ใช้การขนส่งผ่านท่าเรือทางภาคตะวันออกของจีนก่อนที่จะกระจายต่อไปยังพื้นที่อื่นในจีน ซึ่งใช้เวลาในการขนส่งค่อนข้างนาน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพความสดใหม่ของผลไม้ อีกทั้ง ยังมีต้นทุนการขนส่งที่สูง ส่งผลให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดลดลง

ความสะดวกรวดเร็วด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ภายใต้กรอบระเบียง NWLSC ในปัจุบัน ทำให้ผู้ค้าหันมานำเข้าทุเรียนไทยผ่านภาคตะวันตกของจีน ช่วยร่นเวลาการขนส่งจากเดิมได้ราว 6 วัน และประหยัดค่าใช้จ่ายได้ราว 2,000 หยวนต่อตู้ อย่างในกรณีของทุเรียนสด ด่านศุลกากรโหย่วอี้กวานมีมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการผ่านพิธีการศุลกากรให้เป็นพิเศษ (ให้ priority ในการผ่านเข้าด่านเพื่อดำเนินพิธีการศุลกากรก่อน) เพื่อสร้างหลักประกันด้านความสดใหม่ให้แก่ทุเรียนจากอาเซียน

สถิติในไตรมาสแรก ปี 2566 การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศผ่านด่านทางบกในเขตฯ กว่างซีจ้วงคิดเป็นน้ำหนักรวม 895,500 ตัน เพิ่มขึ้น 96.64% ปริมาณรถบรรทุกสินค้าผ่านเข้า-ออก 96,700 คัน เพิ่มขึ้น 100.62% เพื่อประหยัดเวลาและปรับปรุงประสิทธิภาพ

ต่อไป กว่างซีจะเร่งการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของNWLSC โดยยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงาน ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่องและผลักดันการพัฒนาเศรสฐกิจNWLSCแบบหลอมรวมกัน

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน  เห็นว่า การพัฒนาระเบียง NWLSC ในกว่างซีมีนัยสำคัญยิ่งต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทย กล่าวได้ว่า กว่างซีเป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่ภาคธุรกิจไทยจะสามารถ “เชื่อมต่อ” เศรษฐกิจภายในประเทศของไทยให้เข้ากับเศรษฐกิจของจีนตะวันตกผ่านระเบียง NWLSC ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ด้วยข้อได้เปรียบในทำเลที่ตั้งและนโยบายของกว่างซี รวมถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของระเบียง NWLSC การขนส่งสินค้าผ่านระเบียง NWLSC ถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการทำการค้ากับประเทศจีน โดยเฉพาะการนำสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีนตอนกลางและภาคตะวันตก

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง