เข้าสู่ฤดูฝน สวนมะพร้าวระวังด้วงแรด

แหล่งปลูกมะพร้าวสำคัญของไทยจะเข้าสู่ฤดูฝน ให้เกษตรกรเฝ้าระวัง…ด้วงแรดมะพร้าว ตัวเต็มวัยจะบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบ ทำลายยอดอ่อนที่ใบยังไม่คลี่ ทำให้ใบใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วๆคล้ายหางปลา ใบใหม่จะแคระแกร็น รอยแผลที่ถูกเจาะจะเป็นด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ หรือเกิดยอดเน่าจนถึงต้นตายได้…ส่วนระยะเป็นตัวหนอนจะอยู่ตามพื้นดิน บริเวณกองปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก ตัวหนอนจะกัดกินและทำลายระบบรากของมะพร้าวปลูกใหม่ ทำให้ยอดเหี่ยวและแห้งเป็นสีน้ำตาล ต้นแคระแกร็น

%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%94
ด้วงแรดมะพร้าว

วิธีป้องกันกำจัดต้องทำแบบผสมผสาน ทั้งวิธีเขตกรรม ชีววิธี และสารเคมี

วิธีเขตกรรม หมั่นกำจัดเศษวัสดุบริเวณสวนอย่างสม่ำเสมอเพื่อกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ ถ้ามีกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กองขยะ กองขี้เลื่อย กองแกลบ ควรกำจัดออกไปจากสวนหรือกองให้เป็นที่ แล้วหมั่นกลับกองเพื่อตรวจดูหนอนด้วงแรด หากพบให้จับมาทำลายหรือเผากองนั้นทิ้ง ลำต้นและตอมะพร้าวที่โค่นทิ้งไว้ รวมทั้งมะพร้าวที่ยืนต้นตาย ควรโค่นลงมาเผาทำลาย แต่ถ้าต้นที่ถูกตัดยังสดอยู่ ให้นำมาทำกับดักล่อให้ด้วงแรดมาวางไข่ ตัดเป็นท่อนสั้นๆนำมาวางเรียงให้เปลือกติดกับดิน เพราะด้วงแรดมะพร้าวจะวางไข่บริเวณที่ชุ่มชื้นและผุเร็ว เมื่อพบหนอนให้เผาทำลายท่อนกับดักเพื่อกำจัดทั้งไข่ หนอน และดักแด้ สำหรับตอมะพร้าวที่เหลือให้ใช้น้ำมันเครื่องทาราดให้ทั่วตอ เพื่อป้องกันการวางไข่

ชีววิธีกำจัด ใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม ใส่กองขยะ กองปุ๋ยคอก หรือกับดักท่อนมะพร้าว เกลี่ยเชื้อให้กระจายทั่วกอง เพื่อให้เชื้อมีโอกาสสัมผัสกับตัวหนอนมากที่สุด จากนั้นรดน้ำให้ความชื้นและหาวัสดุใบมะพร้าวมาคลุมกองไว้ เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมจะเข้าทำลายการเจริญเติบโตของ ด้วงแรด

ส่วนการใช้สารเคมี ในต้นมะพร้าวอายุ 3–5 ปี ที่ยังไม่สูงนักใส่ลูกเหม็นบริเวณคอมะพร้าวรอบยอดอ่อนทางละ 2 ลูก ต้นละ 6–8 ลูก กลิ่นของลูกเหม็นจะไล่ด้วงแรดไม่ให้บินเข้ามาทำลายคอมะพร้าว

กรณีระบาดมากให้ใช้สารฆ่าแมลงไดอะซินอน 60% EC อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณคอมะพร้าวตั้งแต่โคนยอดอ่อนลงมาให้เปียก โดยใช้ปริมาณ 1- 1.5 ลิตรต่อต้น ทุก 15 – 20 วัน ควรใช้ 1 – 2 ครั้ง ในช่วงระบาด