กรมการค้าภายในจับมือจังหวัดเชียงใหม่ ใช้ “อมก๋อย โมเดล” นำผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อ “มะม่วงแฟนซี” จากเกษตรกร ปริมาณ 39,800 ตัน มูลค่า 458 ล้านบาท เพื่อช่วยดูดซับผลผลิตในช่วงต้นฤดูกาล มั่นใจดันราคาดีตั้งแต่ต้นฤดูกาล
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมมือกับจังหวัดเชียงใหม่ใช้มาตรการ “อมก๋อย โมเดล” ซึ่งเป็น 1 ใน 22 มาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกปี 2566 เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงแฟนซีในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้นำผู้ประกอบการจำนวน 10 รายเข้าไปรับซื้อมะม่วงแฟนซีจากเกษตรกร 6 กลุ่ม ซึ่งทั้ง 6 กลุ่มนี้มีปริมาณผลผลิตรวม 80-90% ของผลผลิตทั้งหมด โดยซื้อปริมาณ 39,800 ตัน มูลค่า 458 ล้านบาท เพื่อช่วยดูดซับผลผลิตในช่วงต้นฤดูกาล
สำหรับผลผลิตมะม่วงที่ผู้ประกอบการรับซื้อไป ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในกระบวนการผลิต แปรรูป และจำหน่ายผ่านช่องทางของผู้ประกอบการ และส่วนหนึ่งจะนำไปแจกเป็นของสมนาคุณแก่ผู้เติมน้ำมัน โดยสถานีบริการน้ำมัน PT บางจาก และเชลล์ รวมประมาณ 1,000 สถานี กระจายในทุกภาค ยกเว้นภาคเหนือ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงแฟนซี กรมฯ ยังได้ประสานไปยังพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกใหญ่ ให้ติดตามสถานการณ์ผลผลิต และสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิด หากพบผลผลิตออกมากพร้อมกัน หรือมีปัญหาด้านราคา ให้รายงานเข้ามายังกรมฯ ทันที ซึ่งกรมฯ จะประสานงานผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อต่อไป
นอกจากนี้ ในวันเดียวกันนี้ กรมฯ ยังได้เป็นสักขีพยานทำสัญญานำผู้ประกอบการและโรงลำไยอบแห้งเข้ารับซื้อลำไยในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จำนวน 145,000 ตัน และลิ้นจี่ จำนวน 3,000 ตัน เพื่อช่วยดูแลเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตกำลังออกสู่ตลาด และดูแลให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาดี
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางจังหวัดได้มีการติดตามสถานการณ์ผลผลิตผลไม้ที่กำลังออกสู่ตลาดอย่างใกล้ชิด และได้ประสานร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการเข้าไปดูแลเกษตรกรให้ขายผลผลิตได้ในราคาดี ซึ่งในส่วนของมะม่วงแฟนซี กรมการค้าภายในได้ประสานผู้ประกอบการรายใหญ่ 10 ราย เข้ามาทำสัญญาซื้อล่วงหน้าเกือบ 40,000 ตัน มูลค่า 458 ล้านบาท โดยมั่นใจว่าจะช่วยผลักดันให้ราคามะม่วงแฟนซีในปีนี้ปรับตัวดีขึ้นเพราะมีตลาดรองรับล่วงหน้า
ส่วนลำไย ซึ่งเป็นผลไม้หลักของจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ที่ผ่านมามักจะประสบปัญหาราคาตกต่ำในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ซึ่งทางจังหวัดได้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับพาณิชย์จังหวัด สหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์ผลผลิต และสถานการณ์ด้านราคา แต่ปีนี้เชื่อว่าราคาจะดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่กรมการค้าภายในได้นำผู้ประกอบการเข้ามารับซื้อตั้งแต่ช่วงต้นฤดูการผลิต