ระวัง”หนอนแมลงวันชอนใบ”ในพืชตระกูลกะหล่ำ

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศร้อนและมีฝนตก เตือนผู้ปลูก “พืชตระกูลกะหล่ำ” (เช่น กวางตุ้ง คะน้า) รับมือ “หนอนแมลงวันชอนใบ”

ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ภายในผิวใบพืช เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนมีลักษณะหัวแหลมท้ายป้าน(รูปกระสวย) ไม่เป็นปล้องชัดเจน ไม่มีขา เคลื่อนไหวโดยการดีดตัว “ตัวหนอน” จะชอนไชอยู่ในใบพืช ทำให้เกิดรอยเส้นสีขาวคดเคี้ยวไปมา เมื่อนำใบพืชมาส่องดูจะพบหนอนตัวเล็ก ๆ สีเหลืองอ่อนโปร่งใสอยู่ภายในเนื้อเยื่อ หาก “หนอนแมลงวันชอนใบ”ระบาดรุนแรงจะทำให้ใบพืชเสียหายจนมีผลกระทบต่อผลผลิต

278710187 318040417141846 2268908722839583122 n%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%94

สำหรับวงจรชีวิต “หนอนแมลงวันชอนใบ”ประมาณ 23-31 วัน ระยะไข่2-4 วัน ระยะหนอน 7-10 วัน ระยะดักแด้5-7 วัน ตัวเต็มวัยมีอายุ 9-10 วัน

แนวทางป้องกัน/แก้ไข
๑. เก็บและเผาทำลายเศษใบพืชที่ถูกทำลายเนื่องจาก “หนอนแมลงวันชอนใบ” จะช่วยลดการแพร่ระบาดได้ เนื่องจากดักแด้ที่อยู่ตามเศษใบพืชจะถูกทำลายไปด้วย

๒.พ่นด้วยสารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ อิมิดาโคลพริด ๑๐% เอสแอล อัตรา ๒๐-๓๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือฟิโพรนิล ๕% เอสซีอัตรา ๒๐-๔๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ไซเพอร์เมทริน ๔๐ % ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๑๕-๒๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ เบตา-ไซฟลูทริน ๒.๕% อีซี อัตรา ๓๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือไดโนทีฟูแรน ๑๐% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๒๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร

ที่มา สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร