ม.มหิดล พร้อมร่วมยกระดับ “เสื่อกก” สู่ “สินค้า GI” ชิ้นแรกของ จ.อำนาจเจริญ

ปัจจุบัน ภายใต้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการสนับสนุนด้านองค์ความรู้และการสร้างสรรค์เทคโนโลยีจาก โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมผลักดันให้ “เสื่อกก” กลายเป็น “สินค้า GI (Geographical Indication) ชิ้นแรกของจังหวัดอำนาจเจริญ” ซึ่งแสดงถึง “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” ที่จะทำให้เมืองไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในสายตาของชาวโลก

S 2834662
ผศ. ดร.วิทยา แก้วศรี ม.มหิดล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทยา แก้วศรี หัวหน้าสำนักวิจัยและบริการวิชาการ และอาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความสำคัญของ “ต้นกก” ซึ่งจัดเป็น “วัชพืช” ที่สามารถพบได้โดยทั่วไปตามริมหนองน้ำ ในทางอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ “บำบัดน้ำเสีย” เพื่อการเป็น “โรงงานสีเขียว”

S 2834664
ยกระดับ “เสื่อกก” สู่ “สินค้า GI”

สำหรับความเป็นมาของ “เสื่อกก” ที่โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล – จังหวัดอำนาจเจริญ กำลังผลักดันให้เป็น “สินค้า GI” ชิ้นแรกของจังหวัด นับเป็นสินค้าซึ่งสะท้อนถึงค่านิยมทางวัฒนธรรมของชาวอีสาน แทน “ของฝาก” อันอบอุ่นและแสดงการต้อนรับเกือบเทียบเท่าการ “ผูกผ้าขาวม้า” แด่แขกผู้มาเยือนซึ่งเป็นบุคคลสำคัญ

โดยชาวอีสานนิยมมอบเสื่อให้แก่กัน เนื่องด้วยตั้งแต่สมัยโบราณนิยมสร้างบ้านกันโดยใช้ไม้ไผ่มาปูแผ่เป็นพื้นเรือนซึ่งมีความเรียบที่ไม่เสมอกัน จำเป็นต้องใช้เสื่อปูรองก่อนนอน-นั่ง

จาก “วัชพืช” ที่ขึ้นตามริมห้วยหนองคลองบึง ปัจจุบันได้กลายเป็น “พืชเศรษฐกิจ” สำคัญที่เพิ่มมูลค่าให้กับชาวจังหวัดอำนาจเจริญ โดยเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต “เสื่อกก” ซึ่งมั่นใจได้ถึง “ความแข็งแรงทนทาน” มีอายุการใช้งานนานกว่าเสื่อที่ทำจากวัสดุธรรมชาติโดยทั่วไป โดยได้ผ่านการทดสอบแล้วด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และรับรองจากห้องปฏิบัติการ ดำเนินการโดยโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล

จากการเปรียบเทียบความแข็งแรงของตัวอย่างเส้นกกที่ผ่านกระบวนการตากแห้ง และเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูฝน (พฤษภาคม – กรกฎาคม) จาก 2 แหล่ง คือ จังหวัดอำนาจเจริญ และกกจากภาคตะวันออกพบว่า ตัวอย่างเส้นกกจากจังหวัดอำนาจเจริญมีความแข็งแรง โดยทดสอบ “ความทนต่อแรงกดทับ” ผ่าน “เครื่องวัดลักษณะเนื้อสัมผัส” (Texture Analyzer) SMS รุ่น TA.XT Plus ได้ค่าเฉลี่ย 18,006.66 กรัม มากกว่าตัวอย่างที่นำมาเปรียบเทียบ ซึ่งมีความแข็งแรงโดยเฉลี่ย 9,494.05 กรัม หรือมีความทนทานกว่าประมาณสองเท่า

เสื่อกกที่ขึ้นชื่อของจังหวัดอำนาจเจริญมีมากมายจากหลายตำบล จากการสำรวจนำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทยา แก้วศรี ที่ได้นำทีมลงพื้นที่ร่วมกับคณะทำงานระดับจังหวัดที่ผ่านมาได้ค้นพบหนึ่งในผลิตภัณฑ์เลื่องชื่อ ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับของผู้มาเยือน มาจาก “เสื่อกกบ้านนาหมอม้า”

โดยคณะทำงานโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้นำในการจัดทำข้อมูลเพื่อการขอรับรอง GI ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะใช้ความเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้ “ภูมิปัญญาอันล้ำค่า” ที่มีอยู่แล้วของชาวชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ยกระดับสู่การเป็น “สินค้า GI ชิ้นแรก” ที่จะทำให้ชาวจังหวัดอำนาจเจริญได้ภาคภูมิใจ จากการที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มภาคภูมิ