พาณิชย์ พร้อมรับมือผลไม้ภาคใต้ ดึงผู้ประกอบการซื้อถึงที่ เร่งระบายผลผลิตออก

กรมการค้าภายในโชว์ความพร้อมรับมือผลไม้ภาคใต้ ที่จะออกสู่ตลาดมากตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไป เตรียมประสานผู้ประกอบการ ทั้งผู้ส่งออก แปรรูป ล้ง ห้าง ผู้จำหน่ายในประเทศ เข้าไปรับซื้อผลผลิตถึงที่ และใช้มาตรการเร่งระบายผลผลิตออกนอกพื้นที่ นำขายผ่านห้างค้าส่งค้าส่งค้าปลีก ห้างท้องถิ่น ปั๊ม โมบาย และเปิดจุด Fruit Festival 2023 เผยล่าสุดราคามังคุดเกรดมัน พุ่งสูงสุดกิโลกรัมละ 108 บาทแล้ว เพิ่ม 173% ทุเรียนเกรดส่งออกกก.ละ 120-135 บาท เพิ่ม 8%
         

%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%88 %E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%A2
นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน

นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนก.ค.2566 เป็นต้นไป ผลไม้ภาคใต้ ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง จะเริ่มออกสู่ตลาด ซึ่งกรมฯ ได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2566 ไว้แล้ว และจะมีหลายมาตรการที่จะนำมาใช้ในการดูแลผลไม้ภาคใต้ โดยมาตรการแรก จะระดมผู้ประกอบการ ทั้งผู้ส่งออก ผู้แปรรูป ล้งไทย ล้งจีน ห้างค้าส่งค้าปลีก ผู้ค้าส่ง ผู้จำหน่ายในประเทศ เข้าไปรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรง มีกรมฯ และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่คอยดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะถือเป็นมาตรการหลัก เพราะช่วยระบายผลผลิตออกนอกพื้นที่ได้มากและเร็ว และจะช่วยดันราคาให้ทรงตัวอยู่ในระดับสูง
         

ส่วนมาตรการเสริม จะร่วมมือกับผู้ประกอบการที่เป็นภาคีเครือข่ายเอกชนของกรมฯ ได้แก่ ห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างท้องถิ่นทั่วประเทศ สถานีบริการน้ำมัน ซึ่งมีสาขามากกว่า 20,000 สาขา รถโมบาย รับซื้อผลผลิตผลไม้จากเกษตรกร เพื่อนำไปจำหน่ายทั่วประเทศให้เร็วที่สุด เพื่อเร่งระบายผลผลิต และให้ผู้บริโภคทั่วประเทศได้บริโภคผลไม้ภาคใต้ และยังมีกำหนดจัดกิจกรรม Fruit Festival 2023 เปิดจุดจำหน่ายผลไม้ทั่วประเทศ รวมทั้งจะร่วมมือกับสายการบิน เปิดให้ประชาชนโหลดผลไม้ขึ้นเครื่องได้ฟรี ซึ่งจะช่วยระบายผลผลิตให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง
         

ทั้งนี้ ผลจากการเข้าไปช่วยดูแลผลไม้ภาคใต้ พบว่า มังคุด รุ่นแรก ออกสู่ตลาดแล้ว กำลังจะเข้าสู่ผลผลิตรุ่น 2 โดยราคามังคุดเกรดมัน จ.ชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญของภาคใต้ ราคาขยับขึ้นเป็นกิโลกรัม (กก.) ละ 95-108 บาท เพิ่มขึ้น 173% หรือเพิ่มจากปี 2565 ที่ราคาเฉลี่ย 37 บาท/กก. เกรดลาย ราคา 53-81 บาท/กก. เพิ่ม 91% เพิ่มจากปี 2565 ที่ราคาเฉลี่ย 35 บาท/กก. และเกรดดอกดำ ราคา 33-59 บาท/กก. เพิ่ม 84% หรือเพิ่มจากปี 2565 ที่ราคาเฉลี่ย 25 บาท/กก. ส่วนราคามังคุดในจังหวัดอื่น ๆ เช่น นครศรีธรรมราช และพังงา ก็ทรงตัวอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกัน

สำหรับทุเรียน ขณะนี้ออกสู่ตลาดแล้วประมาณ 20% ราคายังทรงตัวอยู่ในระดับสูง คือ เกรดส่งออก ราคา 120-135 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 8% เพิ่มจากปี 2565 ที่ราคาเฉลี่ย 116 บาท/กก. และเกรดคละ ราคา 80-85 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 29% หรือเพิ่มจากปี 2565 ที่ราคาเฉลี่ย 64 บาท/กก.

อย่างไรก็ตาม เฉพาะทุเรียน ที่จะเริ่มออกสู่ตลาดมากนับจากนี้ไปนั้น กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์การรับซื้อ พบว่า สัปดาห์นี้ ผู้ประกอบการรับซื้อทุเรียนจากภาคตะวันออก ทั้งผู้ส่งออก ล้งไทย ล้งจีน ผู้ค้าส่ง ได้ลงไปยังพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรับซื้อผลผลิตทุเรียนครอบคลุมพื้นแล้ว 80% และยังได้ร่วมมือกับตลาดมรกต ซึ่งเป็นตลาดทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศในส่วนของภาคใต้ มีล้งกว่า 50 ราย และผู้ประกอบการที่ซื้อทุเรียนไปจำหน่ายในประเทศ ห้องเย็น โรงงานแปรรูป กว่า 300 ราย เข้าไปรับซื้อแล้ว

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ ออกตรวจสอบและติดตามการซื้อขาย และดูแลไม่ให้มีการฮั้วกดราคา หรือมีพฤติกรรมที่เอารัดเอาเปรียบเกษตรกร โดยหากตรวจสอบพบ จะดำเนินการตามกฎหมาย 2 ฉบับอย่างเด็ดขาด คือ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 มาตรา 72 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด และพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 29 กรณีทำให้เกิดความปั่นป่วนด้านราคา มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ