กรมเจรจาฯ เตือน 7 กลุ่มสินค้าเกษตร รับมืออียูออกกฎแจ้งข้อมูลปลอดตัดไม้ทำลาย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยอียูออกกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าเกษตร 7 กลุ่ม โค โกโก้ กาแฟ น้ำมันปาล์ม ยางพารา ถั่วเหลือง ไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ ต้องลงทะเบียนในระบบ และแจ้งข้อมูล เพื่อให้ตรวจสอบย้อนกลับได้ เตือนเกษตรและผู้ส่งออกเตรียมพร้อมรับมือ ดีเดย์บังคับใช้ 30 ธ.ค.67 แต่ MSMEs ได้ระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเพิ่ม บังคับใช้ 30 มิ.ย.68
         

64af6ebb7d283
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products Regulation : EUDR) หรือ Regulation (EU) 2023/1115 ที่กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าเกษตร 7 กลุ่ม ได้แก่ โค โกโก้ กาแฟ น้ำมันปาล์ม ยางพารา ถั่วเหลือง และไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ จะต้องลงทะเบียนในระบบฐานข้อมูลและแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวกับการผลิต เช่น แหล่งที่มา ผู้ผลิต และพิกัดทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่เพาะปลูก เก็บเกี่ยว เป็นต้น เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับ และวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบภาพถ่ายจากดาวเทียมว่าสินค้านั้นผลิตบนพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation) หรือทำให้ป่าเสื่อมโทรม (Degradation) หรือไม่ เพื่อลดการทำลายพื้นที่ป่าของโลก และลดการนำเข้าสินค้าที่มีความเสี่ยงในการทำลายป่าเข้ามาในอียู
         

ทั้งนี้ เกษตรและผู้ส่งออกที่เกี่ยวข้อง จะมีเวลาเตรียมการ (transitional period) ประมาณ 18 เดือน ก่อนที่มาตรการนี้จะมีผลใช้บังคับ ในวันที่ 30 ธ.ค.2567 ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลาง เล็ก และย่อม (MSME) ที่จัดตั้งขึ้นภายในวันที่ 31 ธ.ค.2563 จะได้เวลาเปลี่ยนผ่าน 24 เดือน ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2568 ก่อนที่มาตรการจะมีผลใช้บังคับ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าอียูจะออกกฎระเบียบลำดับรอง เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการนี้มีความชัดเจนขึ้น เช่น กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ บทลงโทษ การจัดทำระบบฐานข้อมูล และการจัดกลุ่มประเทศตามระดับความเสี่ยงในการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อกำหนดระดับความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสอบข้อมูลที่ผู้ประกอบการแจ้ง ซึ่งผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงจะถูกสุ่มตรวจ ร้อยละ 9 ความเสี่ยงระดับกลาง ร้อยละ 3 และความเสี่ยงระดับต่ำ ร้อยละ 1
         

นางอรมน กล่าวว่า จากการหารือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทราบว่าการยางแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างจัดทำฐานข้อมูลการเพาะปลูกยางพารา และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือสำหรับสมาชิก เพื่อใช้ประกอบการดำเนินการตามระเบียบดังกล่าว และในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐของไทย เช่น กระทรวงการต่างประเทศ และกรมฯ ได้ประสานกับอียู เตรียมเชิญผู้เชี่ยวชาญมาจัดสัมมนาฝึกอบรมให้คำแนะนำและอธิบายมาตรการนี้ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องของไทยได้เข้าใจและรับทราบข้อมูลอย่างละเอียด ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนมาตรการบังคับใช้จริง
         

ในปี 2565 ไทยส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ไปอียู มูลค่า 1,732.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11 ของการส่งออกไทยไปโลก และส่งออกกาแฟ มูลค่า 0.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9 ของการส่งออกไทยไปโลก สำหรับการส่งออกสินค้ากลุ่มอื่น ๆ ไปอียู ได้แก่ วัวและผลิตภัณฑ์ ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์ โกโก้และผลิตภัณฑ์ และไม้และผลิตภัณฑ์ มีสัดส่วนต่ำกว่าร้อยละ 5 ของการส่งออกไปโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกของไทยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ รวมถึงกาแฟ จำเป็นต้องเตรียมจัดทำข้อมูลสำหรับยื่นแสดงต่ออียูภายใต้ระเบียบดังกล่าว