พาณิชย์ ปลื้มมังคุดใต้รุ่นแรก ราคาทะลุกิโลละ 132 บาท เตรียมลุยช่วยรุ่น 2 ต่อ

กรมการค้าภายในสรุปสถานการณ์มังคุดใต้รุ่นแรก หลังผลผลิตออกสู่ตลาดหมดแล้ว เผยราคาอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เกรดส่งออก ปีนี้ทะลุกิโลกรัมละ 132 บาท หลังประสานผู้ประกอบการเข้าไปซื้อต่อเนื่อง และเร่งระบายผลผลิตออกสู่ตลาดในหลายช่องทาง มั่นใจรุ่น 2 ที่กำลังออกสู่ตลาด ยังเอาอยู่ เหตุมีมาตรการรองรับไว้แล้ว

%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%88 %E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%A2
นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน

นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์มังคุดภาคใต้ พบว่าขณะนี้ผลผลิตรุ่นแรกได้ออกสู่ตลาดหมดแล้ว และสถานการณ์ด้านราคาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก และภาพรวมสูงกว่าปีที่แล้ว โดยราคามังคุดเกรดส่งออก (มันรวม) ปีนี้อยู่ที่ 132 บาท/กิโลกรัม (กก.) ปีที่แล้ว 37 บาท/กก. เกรดกากลาย อยู่ที่ 85 บาท/กก. เกรดดอก อยู่ที่ 35 บาท/กก. และเกรดดำ อยู่ที่ 23-26 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ เนื่องจากราคาปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ราคามังคุดภาคใต้รุ่นแรกทรงตัวอยู่ในระดับสูง มาจากสถานการณ์ความต้องการบริโภคผลไม้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีนที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น และกรมฯ ได้ใช้มาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกปี 2566 ที่ได้ประสานผู้ประกอบการ ทั้งผู้รวบรวม ผู้ส่งออก ตลาดกลางสินค้าเกษตร ห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างท้องถิ่น เข้าไปรับซื้ออย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังได้นำผลผลิตระบายผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งโมบายพาณิชย์ 10 จุดทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล การจัดกิจกรรม “พาณิชย์ Fruit Festival 2023” เพื่อเพิ่มช่องทางการระบายและกระตุ้นการบริโภคผลไม้ และล่าสุดได้ร่วมมือกับอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ 7 ราย เปิดพื้นที่ให้จำหน่ายผลไม้เข้าสู่หมู่บ้านและคอนโดมิเนียม ครอบคลุมผู้บริโภค 50,000 ครัวเรือน ซึ่งช่วยระบายผลผลิตผลไม้ได้เป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน กรมฯ ได้ร่วมมือกับจังหวัดและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ ตรวจสอบติดตามสถานการณ์การซื้อขายทุกวัน และยังได้กำกับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งการไม่ฮั้วกดราคารับซื้อ การชั่งน้ำหนัก การปิดป้ายแสดงราคารับซื้อให้ชัดเจน ซึ่งผู้ประกอบการได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

สำหรับมาตรการรับมือผลผลิตมังคุดรุ่นที่ 2 ที่ขณะนี้ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดในแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช ยะลา ปัตตานี นราธิวาส กรมฯ ได้เตรียมแผนรองรับผลผลิตไว้แล้ว ครอบคลุมทั้งการตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นมาตรการเดิมที่เคยทำสำเร็จจากมังคุดรุ่นแรก แต่ได้เพิ่มมาตรการใหม่ เช่น การนำจำหน่ายในโครงการอสังหาริมทรัพย์ การระบายผ่านห้างค้าส่งค้าปลีก 600 สาขาทั่วประเทศ การจำหน่ายผ่านโมบายพาณิชย์ โดยมั่นใจว่าจะผลักดันราคาให้อยู่ในระดับสูงได้เหมือนมังคุดรุ่นแรก