พาณิชย์ดัน“กล้วยหอมทอง” ขายญี่ปุ่น นำผู้นำเข้าลงพื้นที่โคราช สนใจซื้อ 5 พันตัน


%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%95
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมได้เดินหน้าผลักดันผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้จัดกิจกรรมเพื่อเปิดตลาดกล้วยหอมไทย ที่ จ.นครราชสีมา โดยทูตพาณิชย์ ได้นำผู้ซื้อ ผู้นำเข้าจากญี่ปุ่นมาบรรยายให้ความรู้ด้านการตลาดและการพัฒนากล้วยตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่นให้กับเกษตรกร และยังได้ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมการเพาะปลูกและพูดคุยกับเกษตรกร เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพในการผลิต และเพิ่มโอกาสในการส่งออกกล้วยหอมทองของไทยไปตลาดญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นต่อไป
         

64b9fb7aee298
ผู้นำเข้าลงพื้นที่โคราช สนใจซื้อ กล้วยหอมทอง 5 พันตัน

ก่อนหน้านี้ ในช่วงการจัดงาน THAIFEX-Anuga Asia 2023 เมื่อเดือนพ.ค.2566 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรมการพบปะเจรจาการค้าระหว่างบริษัทผู้นำเข้าญี่ปุ่นรวม 10 บริษัท และผู้ส่งออกไทยรวม 23 บริษัท 38 ราย โดยกล้วยและผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปของไทยได้รับความสนใจสั่งซื้อเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท จึงได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์เร่งรัดการซื้อขายดังกล่าวเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และหาโอกาสในการขยายตลาดกล้วยของไทยเข้าสู่ญี่ปุ่นเพิ่ม จึงนำมาซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้


         

ทั้งนี้ ไทยและญี่ปุ่น มีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ให้สิทธิพิเศษยกเว้นภาษีนำเข้ากล้วยจากไทยเป็นจำนวน 8,000 ตันต่อปี แต่ที่ผ่านมา ไทยใช้โควตาดังกล่าวไม่เกิน 3,000 ตันต่อปี จึงยังเหลือโควตาไม่ต้องเสียภาษีอีกถึง 5,000 ตัน
         

นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว กล่าวว่า ญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจกล้วยจากไทยเป็นอย่างมาก เพราะชาวญี่ปุ่นนิยมทานกล้วยมากถึงปีละกว่า 1 ล้านตัน แต่สามารถปลูกเองได้น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ากล้วยจากฟิลิปปินส์ ซึ่งเริ่มมีราคาสูงขึ้น อีกทั้งในปัจจุบันมีไทยเพียงประเทศเดียวในโลก ที่ยังสามารถปลูกกล้วยหอมทองได้ ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากที่เคยได้ลองทานแล้ว ต่างมีความเห็นว่าเป็นกล้วยที่มีรสชาติอร่อยกว่ากล้วยหอมเขียวที่วางขายอยู่ในตลาด จึงมีความมั่นใจว่ากล้วยไทย จะสามารถเข้าไปตีตลาดญี่ปุ่นได้อย่างแน่นอน หากมีการควบคุมคุณภาพการผลิตและมีผลผลิตที่เพียงพอต่อการส่งออก

สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะพาผู้นำเข้าชาวญี่ปุ่นให้มาลองชิมและให้มาเห็นถึงวิถีการผลิตกล้วยของไทยว่ามีมาตรฐานและมีการควบคุมคุณภาพที่ดี เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจสำหรับการสั่งซื้อในระยะยาวแล้ว ยังได้นำผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นด้านกล้วยโดยเฉพาะ ซึ่งในอดีตเคยเป็นผู้บุกเบิกการนำกล้วยจากฟิลิปปินส์เข้าไปเปิดตลาดญี่ปุ่นจนสามารถครองตลาดได้มาจนถึงทุกวันนี้ มาให้คำแนะนำเทคนิคการเพิ่มผลผลิตและยกระดับการรักษาคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยของไทยด้วย

“ผู้นำเข้าญี่ปุ่นที่ได้เดินทางมาเห็น และได้พบปะพูดคุยกับพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยใน จ.นครราชสีมา ต่างรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก เพราะได้เห็นถึงความพร้อมของพื้นที่ ๆ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี และได้เริ่มวางแผนการสั่งซื้อกล้วยจากไทยเพิ่มขึ้นอีก 5,000 ตันต่อปีโดยทันที”นายฉันทพัทธ์กล่าว

นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมาเป็นพื้นที่แนวภูเขาไฟเก่า ซึ่งมีดินอุดมไปด้วยแร่ธาตุมากมาย จึงทำให้กล้วยที่ปลูกที่นี่มีสารอาหารและมีรสชาติที่อร่อยไม่เหมือนใคร และจากการที่ได้มีการพูดคุยกับผู้นำเข้าชาวญี่ปุ่น ทำให้ได้ทราบความต้องการของตลาด ซึ่งสอดรับกับความพร้อมของจังหวัดอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปลูกที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 500 เมตร ซึ่งทางญี่ปุ่นเชื่อว่าจะช่วยให้กล้วยมีคุณภาพดีและมีรสชาติอร่อยยิ่งขึ้น หรือพื้นที่เพาะปลูกแปลงใหญ่ที่อยู่ในระยะรัศมีเดียวกันที่มีขนาดรวมแล้วไม่น้อยกว่า 625 ไร่ ซึ่งจะให้ผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการและสามารถส่งมอบกล้วยที่มีความสดใหม่ได้ดี

“จากประสบการณ์ที่ได้ส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยในจังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง ได้เห็นถึงความตั้งใจจริง และความพร้อมในการส่งออกอย่างมาก และเมื่อมาผนวกกับองค์ความรู้ที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นจากกิจกรรมในครั้งนี้ จึงมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าจะสามารถพัฒนาและยกระดับให้กล้วยของจังหวัดนครราชสีมาให้มีมาตรฐานการผลิตที่อยู่ในระดับสากล และจะสามารถครองใจผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นได้อย่างแน่นอน”นายศารุมภ์กล่าว