ระวัง โรคใบไหม้และผลเน่า หรือโรคราน้ำฝนในลำไย

สภาพอากาศในระยะนี้ยังคงเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราก่อโรคพืช กรมวิชาการเกษตร เตือนพี่น้องชาวสวนลำไยให้เตรียมรับมือการระบาดของโรคใบไหม้ หรือโรคราน้ำฝนของลำไย หรือโรคผลเน่าและใบไหม้ ที่เกิดจากเชื้อรา Phytophthora capsici Leonian เพราะเป็นโรคที่พบการระบาดมากในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในช่วงฝนตกชุก สามารถพบได้ในระยะที่ลำไยพัฒนาผลไปจนถึงในระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิต

อาการที่ใบ กิ่ง ยอด ใบอ่อน กิ่งอ่อน และยอดอ่อน…จะพบการไหม้สีน้ำตาลเข้ม และมักพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราขึ้นปกคลุม ต่อมาส่วนที่เป็นโรคจะแห้งอย่างรวดเร็ว

%E0%B9%83%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A29

หากระบาดรุนแรงจะทำให้ใบและยอดไหม้ทั้งต้น ส่วนอาการของโรคเกิดที่ผล เปลือกผลและขั้วผลมีสีน้ำตาลเข้ม ถ้าเกิดในระยะที่ผลลำไยยังแก่ไม่เต็มที่ ผลจะแตกและเน่า และมักจะพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราขึ้นฟูคลุมและผลจะร่วงในที่สุด

ฉะนั้น ในช่วงที่มีฝนตกชุก สภาพอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นลำไยที่แสดงอาการของโรคใบไหม้ ให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค เก็บเศษซากพืชที่ร่วงหล่น และกำจัดวัชพืชในแปลงนำไปทำลายทิ้งนอกแปลงปลูกทันที

จากนั้น ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล 25% ดับเบิลยูพี อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิลยูพี อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ+เมทาแลกซิล-เอ็ม 68% ดับเบิลยูจี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน ให้ทั่วทั้งต้น และควรหยุดพ่นสารก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยอย่างน้อย 15 วัน.