“หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”กับช่องทางโลจิสติกส์ใหม่ โอกาสที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงของราคาทุเรียนในนครฉงชิ่ง

ทุเรียนได้ชื่อว่าเป็น “ราชาผลไม้” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้เป็นที่รู้จักและชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ราคาที่สูงลิ่วของทุเรียนทำให้ผู้บริโภคหลายคนต้องท้อใจไม่น้อยเช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้ ประชากรชาวฉงชิ่งต่างรู้สึกประหลาดใจเมื่อพบว่า ราคาทุเรียนหมอนทองของไทย ซึ่งเดิมในเดือนเมษายนมีราคาอยู่ที่ประมาณเกือบ 100 หยวน/กิโลกรัม แต่ในเดือนมิถุนายนกลับลดลงเหลือต่ำกว่า 40 หยวน/กิโลกรัม และสามารถซื้อทุเรียนทั้งลูกได้ในราคาเพียง 110 หยวนเท่านั้น คนรักทุกเรียนหลายคนต่างบอกว่าราคาทุเรียนตอนนี้ไม่เพียงแต่ถูกลงจากเดือนเมษายนเป็นเท่าตัว แต่ยังถูกกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาด้วย

E2588EA6 AEB0 4D8B B3E2 A210C59AA93D
ทุเรียนหมอนทองของไทย

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เป็นเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงของราคาทุเรียนในจีนคือ การได้รับประโยชน์จากช่องทางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศใหม่ล่าสุดที่สร้างขึ้นโดยจีนและประเทศต่าง ๆ ตามแนวข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ซึ่งก็คือ เส้นทางการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (ILSTC) ช่วยลดช่องว่างการขนส่งทุเรียนและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ระหว่างจีนและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา รถไฟขบวนทดลองขนส่งในระบบโซ่ความเย็นข้ามพรมแดนจีน-ลาว-ไทยได้บรรทุกทุเรียนไทยสดประมาณ 500 ตัน ส่งตรงมาถึงนครฉงชิ่ง ก่อนจะส่งกระจายต่อไปยังภาคอื่น ๆ ของจีน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ทุเรียนไทยส่งตรงถึงนครฉงชิ่งโดยผ่านเส้นทางการขนส่งทางรถไฟระหว่างประเทศ ILSTC โดยใช้เวลาขนส่งเพียง 4 วัน นายเติ้ง ฮ่าวเจี๋ย หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของ Chongqing Hongjiu Fruit Co., Ltd. กล่าวว่า บริษัทได้นำเข้าทุเรียนผ่านเส้นทาง ILSTC ในปีนี้ ทำให้ทุเรียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่จีนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น และช่วยลดเวลาและต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลงมากกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับเส้นทางแบบเดิม จึงส่งผลประโยชน์ทางด้านราคาต่อผู้บริโภคด้วย

เจ้าของสวนทุเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ด้วยความต้องการของตลาดจีนที่เพิ่มสูงขึ้น ได้มีการขยายสวนทุเรียนจาก 3 แห่ง เพิ่มเป็น 7 แห่ง มีผลผลิตต่อปีเพิ่มขึ้นจาก 1,500 ตันเป็น 3,750 ตัน โดยส่วนใหญ่ได้เริ่ม “เดินทางขึ้นเหนือ” ไปยังประเทศจีนผ่านเส้นทาง ILSTC แล้ว จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ไทย ในปี 2565 จีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของไทย โดยคิดเป็นร้อยละ 96 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 3.09 พันล้านเหรียญสหรัฐ

จากข้อมูลตัวเลขของศูนย์ปฏิบัติ Western Land-Sea New Corridor แสดงให้เห็นว่า เส้นทาง ILSTC ได้มีการกระจายตัวออกไปกว่า 120 สถานี ใน 61 เมือง 18 มณฑล/เขตปกครองตนเอง/เทศบาลนครของจีน สามารถเชื่อมต่อกับท่าเรือ 393 แห่งใน 119 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ นครฉงชิ่งมีการขนส่งผ่าน ILSTC กว่า 78,000 TEUs เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 ด้วยมูลค่าสินค้ารวม 12.28 พันล้านหยวน ซึ่งเป็นแนวโน้มการเติบโตที่ดี

เส้นทาง ILSTC ได้กลายเป็นช่องทางโลจิสติกส์ใหม่ที่สำคัญเส้นทางหนึ่งของจีน ที่เริ่มมีการขนส่งรถยนต์พลังงานใหม่ “ออกสู่ตลาดต่างประเทศ” อย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลิตภัณฑ์พิเศษจากมณฑล/เขตปกครองตนเอง และเมืองต่างๆ ตลอดเส้นทาง อาทิ ไวน์แดงของเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ผลไม้เปลือกแข็งของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ด้านการนำเข้าจากต่างประเทศก็ไม่ได้มีการนำเข้าแค่ทุเรียนเท่านั้น แต่ยังมีสินค้าสำคัญจากประเทศในข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” อื่น ๆ อาทิ แก้วมังกรไทย เฟอร์นิเจอร์ไม้มะฮอกกานีของลาว ปลาสวายเวียดนาม กาแฟขี้ชะมดของอินโดนีเซีย และสินค้าอื่น ๆ ก็กำลังเข้าสู่ตลาดจีนผ่านเส้นทางนี้แล้วเช่นกัน

ที่มา -ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู