สนค. คาดวิกฤตราคา “น้ำมันปาล์ม” คลี่คลายในอีก 1-2 เดือนหลังอินโดฯ กลับมาส่งออก

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์ “ราคาน้ำมันปาล์ม” ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทั้งสถานการณ์ในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด

โดยพบว่า “ราคาน้ำมันปาล์มดิบ” เดือน พ.ค.2565 อยู่ที่เฉลี่ยขวดละ 68 บาท เพิ่มขึ้นจากปีเฉลี่ย 54-55 บาทในปี 2564 ตามการสูงขึ้นของผลปาล์มดิบที่ขยับจากราคาเฉลี่ย 6.5 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ในปี 2564 เป็น 9.6 บาทต่อกก. ในช่วง 4 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-เม.ย.)

ขณะที่สถานการณ์ในต่างประเทศ “ราคาน้ำมันปาล์ม”ในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นจาก 4 สาเหตุหลัก คือ 1.การฟื้นตัวของความต้องการน้ำมันปาล์มในตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดอินเดีย 2.มาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนในประเทศ โดยในปี 2565 ได้ออกมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มแล้ว 2 ครั้ง คือ เดือนม.ค.-มี.ค. และเดือนพ.ค. 3.ผลกระทบด้านพลังงานที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้มีการใช้น้ำมันปาล์มผสมเป็นไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นในฐานะพลังงานทดแทน และ

4.ผลกระทบจากภัยแล้งในแอฟริกาใต้ ทำให้ปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองลดลง ภาคการผลิตอาหารส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องหันมาใช้ “น้ำมันปาล์ม” เป็นทางเลือกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดอินโดนีเซียได้ประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.2565 ประเมินว่า แม้ว่าอินโดนีเซียจะเริ่มส่งออกน้ำมันปาล์มอีกครั้ง แต่ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกจะยังคงทรงตัวระดับสูงในระยะสั้น

0518221652840488
วิกฤตราคาน้ำมันปาล์มคลี่คลาย

วิกฤตด้านราคาน่าจะคลี่คลายลงในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า เมื่ออุปทานน้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซียเข้าสู่ตลาดอย่างเต็มที่ โดยคาดการณ์ว่าจะมีอุปทานน้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซียเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 เดือนนับจากนี้ เนื่องจากมีผลผลิตปาล์มส่วนหนึ่งที่เกษตรกรเก็บไว้ในช่วงที่มีประกาศห้ามส่งออก เมื่อรวมกับผลผลิตปัจจุบันด้วยแล้ว ทำให้นักวิเคราะห์ต่างคาดหมายว่าจะมีอุปทาน “น้ำมันปาล์ม” เข้าสู่ระบบมากขึ้น

นายรณรงค์กล่าวว่า ปัจจุบัน อินโดนีเซียมีการเก็บสต็อกน้ำมันปาล์มอยู่แล้วประมาณ 5 ล้านตัน ขณะที่ความสามารถในการกักเก็บเต็มที่อยู่ที่ประมาณ 6-7 ล้านตัน ซึ่งจะเต็มความจุภายในสิ้นเดือนมิ.ย.2565 และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อินโดนีเซียต้องหันกลับมาส่งออกน้ำมันปาล์มอีกครั้ง เพราะหากยังไม่มีการส่งออก ก็จะไม่มีการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในช่วงถัดไป เมื่อผลผลิตล้นตลาดและไม่มีสถานที่เก็บสต็อกจะเกิดการเน่าเสีย

นอกจากเหตุผลในด้านปริมาณส่วนเกินในตลาดอินโดนีเซียแล้ว การเก็บสต็อกน้ำมันปาล์มเป็นเวลานาน ยังส่งผลให้น้ำมันปาล์มเสื่อมคุณภาพลงอย่างรวดเร็วด้วย

ทั้งนี้ จากสถิติด้านการผลิตและการบริโภคน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย พบว่า อินโดนีเซียมีความสามารถในการผลิต 4 ล้านตันต่อเดือนใช้บริโภคในประเทศเพียง 1.5 ล้านตันต่อเดือนเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะถูกส่งออกในปริมาณ 2.5 ล้านตันต่อเดือน

ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่าปริมาณน้ำมันปาล์มส่วนเกินเหล่านี้ และความสามารถในการเก็บสต็อกที่มีอยู่อย่างจำกัด เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อินโดนีเซียต้องกลับมาส่งออกน้ำมันปาล์มอีกครั้ง แต่ราคาอาจยังไม่ลดลงในทันที เนื่องจากข้อบังคับของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ยังกำหนดเพดานการส่งออกเพื่อป้องกันการขาดแคลนในประเทศ

ขณะเดียวกันในด้านอุปสงค์ของผู้นำเข้าจากอินเดียจีนและสหภาพยุโรป ต่างคาดการณ์ว่า“ราคาน้ำมันปาล์ม”ในอนาคตจะอยู่ในช่วงขาลง ทำให้ผู้นำเข้าส่วนหนึ่งชะลอการนำเข้าเพื่อรอราคาที่เหมาะสม

ทางด้านสถานการณ์ตลาดน้ำมันปาล์มของไทย มีข้อมูลจากกรมการค้าภายในระบุว่า ณ 31 พ.ค.2565 ไทยมีสต็อกของน้ำมันปาล์มต่อเดือนอยู่ที่ระดับ 190,000-200,000 ตัน ซึ่งนอกจากจะเพียงพอต่อความต้องการในประเทศแล้วไทยยังสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและประเทศได้อีกด้วย

โดยตลาดส่งออกหลักของไทย คือ อินเดีย มีมูลค่าส่งออกในสัดส่วน 74.7% ของการส่งออกน้ำมันปาล์มทั้งหมดของไทยในไตรมาสแรก ปี 2565 ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทย อยู่ที่ 54-55 บาทต่อลิตร ใกล้เคียงกับราคาน้ำมันปาล์มดิบของมาเลเซียที่ 55-56 บาทต่อลิตร