ชาวสวนยางพร้อมรับมือกฎเหล็ก EUDR กยท. ย้ำเป็นโอกาสทองขยายตลาดของไทย

เกษตรกรชาวสวนยาง จ.เชียงราย ประกาศพร้อมรับมือกฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรป กยท. มั่นใจการซื้อขายยางผ่าน Thai Rubber Trade ด้วยเทคโนโลยี Block chain และการระบุที่ตั้งสวนยางผ่านแอปพลิเคชัน RAOT GIS สามารถรองรับการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์อย่างรวดเร็วและถูกต้อง เพิ่มศักยภาพการในการแข่งขันทางการค้า ควบคู่กับการขยายตลาดการส่งออกยางของประเทศไทยไปยังประเทศคู่ค้าทั่วโลก

%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%87
ชาวสวนยางพร้อมรับมือกฎเหล็ก EUDR

นายปรีชา เป็งนวล ประธานกรรมการ สหกรณ์ยางพาราแม่ลาว-แม่กรณ์ จำกัด จ.เชียงราย เปิดเผยว่า สหกรณ์ฯ มีความพร้อมในเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งกำเนิดผลิตภัณฑ์ยางพารา (Traceability) เพื่อรองรับกฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ที่ผ่านมา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เข้ามาสนับสนุนในเรื่องการประมูลซื้อขายยางพาราผ่านระบบ Thai Rubber Trade (TRT) ซึ่งเป็นการซื้อขายโดยตรงระหว่างสหกรณ์ฯ กับผู้ซื้อ โดยอ้างอิงราคากลางตามที่ประกาศของ กยท. ซึ่งจากเดิมเกษตรกรจะซื้อขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ชาวสวนยางมีรายได้ ที่เพิ่มขึ้นสามารถเลี้ยงครอบครัวได้

%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%872

“และที่สำคัญยางพาราที่ซื้อขายผ่านระบบ TRT ของสหกรณ์ฯ จะสามารถตรวจสอบรายละเอียดในการซื้อขายแต่ละครั้งได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีการจัดเก็บข้อมูลและรวบรวมผลผลิตของสมาชิกแต่ละรายไว้เป็นระบบ จึงสามารถเช็กได้ว่าผลผลิตยางที่ขายไป มาจากสวนยางของสมาชิกรายใด สวนยางตั้งอยู่ที่พิกัดไหน และเป็นสวนยางที่มีประเภทของเอกสารสิทธิ์ที่ดินเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย EUDR หรือไม่”

สำหรับสหกรณ์ยางพาราแม่ลาวแม่กรณ์ ต.แม่กรณ์ อ.เมือง จ.เชียงราย เป็นสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 เพื่อรวบรวมและส่งมอบยางก้อนถ้วยของสมาชิกในพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย อ.พาน อ.แม่ลาว และ อ.แม่สรวย มีสมาชิกทั้งหมด 219 คน โดย สหกรณ์ฯ และ กยท. มีการบูรณาการข้อมูลเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ และขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง กับ กยท. ร่วมกัน ทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของผลผลิตยางในกลุ่มประเทศผู้ซื้อยางที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. เปิดเผยว่า กฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรปจะส่งผลดีต่อยางพาราของไทย เนื่องจากในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก ประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพมากที่สุด จึงเป็นโอกาสทองในการขยายตลาด โดยที่ผ่านมา กยท. ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับกฎหมายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบการซื้อขายประมูลยางพาราให้เป็นรูปแบบ Digital Platform ผ่านระบบ TRT โดยได้เปิดใช้งานระบบในพื้นที่ของสำนักงานตลาดกลางยางพารา 4 แห่ง ได้แก่ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียง ราย สำนักงานตลาดกลางจังหวัดหนองคาย สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดบุรีรัมย์ และสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดระยอง

“ปัจจุบัน กยท. กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินงานเปิดใช้ระบบ TRT ในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มอีก 4 แห่ง ได้แก่ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา และสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดยะลา เพื่อให้ครบทั้ง 8 แห่งภายในปี 2566”

ทั้งนี้ การซื้อขายประมูลยางพารา ผ่านระบบ TRT เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการซื้อขายประมูลยางพารา ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูล กับ สำนักงานตลาดกลางยางพาราของ กยท. ทั้ง 8 แห่ง และตลาดเครือข่ายกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดระยะเวลาการทำธุรกรรม เพิ่มความโปร่งใส มีความแม่นยำ ลดความเสี่ยงในการปลอมแปลงบัญชี สามารถทำสัญญาการซื้อขายต่าง ๆ ง่ายขึ้น พร้อมทั้งได้ยางที่มีคุณภาพมาตรฐานในราคาที่เป็นธรรมและเพิ่มโอกาสขยายช่องทางการตลาด รวมทั้งการนำเทคโนโลยี Block chain เข้ามาใช้ในระบบ TRT ยังรองรับการการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตยางพาราได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การซื้อขายประมูลยางพาราของสำนักงานตลาดกลางยางพารา และตลาดเครือข่ายของ กยท. มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมในทุก ๆ ด้านยิ่งขึ้น ขณะนี้ กยท. กำลังพัฒนาระบบ TRT อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ซื้อยางสามารถทราบรายละเอียดการซื้อขายยางของสมาชิกสหกรณ์ในแต่ละครั้งว่าเป็นอย่างไร มาจากพิกัดสวนยางแปลงไหน สามารถตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตยางพาราได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำมากยิ่งขึ้น สอดรับกับกฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรป โดยตั้งเป้าจะพัฒนาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2567 ก่อนกฎหมาย EUDR มีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ กยท. ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “RAOT GIS” ขึ้นมารองรับมาตรการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งกำ เนิดผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อรองรับกฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรปอีกเช่นกัน โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวมุ่งบริหารจัดการเชื่อมโยงข้อมูลตั้งแต่ข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยาง ข้อมูลสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และข้อมูลผู้ซื้อขายยางผ่านตลาดกลางยางพาราของ กยท. ทั้งนี้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ทุกคนสามารถดาวน์โหลดและใช้งานได้บนสมาร์ทโฟน ทั้งระบบ Android และ iOS ลงชื่อเข้าใช้งานได้ทันที พร้อมทั้งสามารถอัปเดตข้อมูลสวนยาง ด้วยการวาดพิกัดแปลงสวนยาง อัปโหลดรูปถ่ายสวนยาง และเอกสารต่างๆ และยังสามารถดูพิกัดพื้นที่สวนยางของตนเอง รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกเช่นกัน

นายณกรณ์ กล่าวต่อว่า แอปพลิเคชัน RAOT GIS ช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยาง สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการทำสวนยางในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารข้อมูลสวนปลูกแทน สวนประกันรายได้ วิเคราะห์และบริการข้อมูลรายงานเชิงพื้นที่ ตลอดจนรายงานการปลูกแทนตามอายุและประเภทยางพารา ความเหมาะสมของดินสำหรับการปลูกยางและพืชชนิดอื่น ๆ คาดการณ์การใช้ปุ๋ย การวิเคราะห์ข้อมูลด้านการขนส่ง รวมทั้งการค้นหาสถานที่ตั้งของ กยท. ทั่วประเทศ

สำหรับกฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรปดังกล่าว ได้กำหนดให้การนำเข้ายาง และผลิตภัณฑ์จากยาง จะต้องมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ป่า และไม่ทำลายป่า รวมถึงการจัดการสวนยางพารา ที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม ซึ่งสวนยางพาราของไทยส่วนใหญ่จะเป็นไปตามที่กฎหมาย EUDR กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม สวนยางพาราที่ไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับ และไม่เป็นตามกฎหมาย EUDR ก็ยังสามารถขายยางไปยังตลาดต่างประเทศอื่น ๆ ได้ เช่น ประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดที่รับซื้อยางจากประเทศไทยมากที่สุดยังไม่ได้นำกฎหมายดังกล่าว มาใช้เป็นเงื่อนไขในการซื้อขายยาง