นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตข้าวนาปี ปี 2566 (ปีเพาะปลูก 2566/67) รวมทั้งประเทศ (ข้อมูล ณ 11 กรกฎาคม 2566) พบว่า มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 0.602 ล้านไร่ หรือร้อยละ 0.96 เนื้อที่เก็บเกี่ยว 59.598 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 0.316 ล้านไร่ หรือร้อยละ 0.53 ผลผลิต 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากปีที่ผ่านมา 0.871 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 3.27
สำหรับเนื้อที่เพาะปลูกลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ฝนมาล่าช้า และคาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 2565 ซึ่งจากการคาดหมายลักษณะอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาปริมาณฝนรวมในช่วงฤดูฝนปีนี้จะน้อยกว่าปีที่แล้ว และช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2566 เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว ส่วนผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อยจากการเกิดปรากฏการเอลนีโญ ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2566 ทำให้ฝนทิ้งช่วง เกิดความแห้งแล้ง ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าว นอกจากนี้ ยังเสี่ยงพบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น โรคไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง
ด้านราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ พบว่า ขยับตัวสูงขึ้นทั้งราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว และราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา และยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาเฉลี่ยช่วง 9 เดือน (มกราคม – กันยายน 2566) ราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ เฉลี่ย 14,226 บาท/ ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 13.33
ส่วนราคาเฉลี่ยของข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% เฉลี่ย 10,499 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 20.58 และราคาเฉลี่ยของข้าวเปลือกเหนียว ความชื้น 15% เฉลี่ย 11,657 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 27.71
ขณะเดียวกันการส่งออกข้าวในช่วง 7 เดือน (มกราคม – กรกฎาคม 2566) มีทิศทางสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ซึ่งการส่งออกข้าวขาวสูงขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า
โดยมีปริมาณการส่งออก 2.54 ล้านตัน สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 30.16 มูลค่าการส่งออก 40,767 ล้านบาท สูงขึ้น จากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 51.83
ขณะที่การส่งออกข้าวเหนียว ในช่วง 7 เดือนปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันแต่เป็นการสูงขึ้นเฉพาะมูลค่าการส่งออกเท่านั้น โดยมูลค่าการส่งออก 3,347 ล้านบาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 14.14
ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนที่ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น มาจากความกังวลในสถานการณ์เอลนีโญที่อาจทำให้ผลผลิตข้าวเสียหาย ผลผลิตข้าวของประเทศจีนลดลง ประกอบกับประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ระงับการส่งออกข้าวขาว ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกได้มากขึ้น