ชัชชาติ ห่วง กทม.มีคนเสียชีวิตจาก “เสพกัญชา” แล้ว 1 ราย ชงโรงเรียนสังกัด กทม. ปลอดกัญชา

14 มิ.ย. 65 ที่ห้องประชุมและวางแผนชั้น 35 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8/2565 ว่า ในส่วนของเรื่อง“กัญชาเสรี”เป็นเรื่องที่ กทม.ค่อนข้างกังวล โดยมี 3 หน่วยงาน กทม. ดูแล คือ สำนักแพทย์ สำนักอนามัย และ สำนักการศึกษา

ขณะนี้ในโรงพยาบาลสังกัด กทม. พบผู้ป่วยจากการใช้“กัญชา” หลังจากวันที่ 9 มิถุนายน 2565 (ซึ่งเป็นวันปลดล็อกกัญชาจากยาเพติด) จำนวน 4 คน โดยหนึ่งในนั้นเสียชีวิต โดยมีรายละเอียด คือ ที่โรงพยาบาลตากสินพบผู้ป่วย 2 ราย อายุ 17 ปี และ 25 ปี มีอาการหัวใจสั่น ,โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโรอุทิศ ผู้ป่วย 1 ราย อายุ 16 ปี มีอาการ Over Dose ขณะนี้รักษาอยู่ห้องไอซียู รวมไปถึงมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ที่ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ อายุ 51 ปี ที่”เสพกัญชา” แล้วหัวใจล้มเหลว เสียชีวิตจากการเสพกัญชาเกินขนาด

286442963 394585809368134 9128675812813160801 n
ต้นกัญชา

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า เป็นตัวเลขที่ทางสำนักการแพทย์รายงานตั้งแต่หลังวันที่ 9 มิถุนายนเป็นต้นมา และเป็นข้อมูลที่ทำให้เราต้องเตรียมเรื่องการแพทย์ให้ดี ซึ่งจริง ๆ ยังมีคนบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจ คงต้องเฝ้าระวังและให้ความรู้มากขึ้น ส่วนเรื่องโรงเรียนก็กังวลเพราะอาจจะมีการใส่ในอาหาร เราอาจจะต้องเริ่มจากการให้ความรู้ก่อน

ตอนนี้มีแนวคิดร่างประกาศให้โรงเรียนใน กทม. ปลอดกัญชา โดยต้องดูอีกทีว่าจะทำในมิติไหน อาทิ ห้ามขายหน้าโรงเรียนเพราะไม่อยากให้เด็กสัมผัสในส่วนนี้ เพราะอาจเป็นประตูนำไปสู่สิ่งอื่น ๆ โดย กทม. จะประเมินผลและอยากให้โรงเรียนในสังกัด กทม.ปลอดกัญชาก่อน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ แต่เมื่อเป็นกฎหมายออกมาก็ต้องปฏิบัติตาม โดย กทม. มีหน้าที่ต้องดูแลทั้งนักเรียนและเด็ก

ก่อนหน้านี้กรมอนามัยได้ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำ “ใบกัญชา” มาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565

โดยสถานประกอบการกิจการอาหารต้องควบคุม กำกับ และต้องจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหารได้แก่

1) จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา

2) แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด

3) แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหารตามประเภทการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู

4) แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ

5) แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบ ด้วยการระบุข้อความ “เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) หรือสารแคนนาบิไดออล(Cannabidiol, CBD) ควรระวังในการรับประทาน” “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”

และ 6) ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค”