สวทช.ร่วมเอกชนพัฒนาพันธุ์ “ปทุมมา” ราชินีแห่งป่าฝน เพิ่มความหลากหลาย สร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกร

ปทุมมา เป็นไม้ดอกสวยงามที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงร่วมกับ หจก. ลักกี้ซีดส์อโกร สนับสนุนให้นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ทำการพัฒนาพันธุ์ปทุมมา เพิ่มความหลากหลายของสายพันธุ์และความทนทานต่อโรค เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ทั้งตลาดดอกไม้สด ไม้กระถาง รวมถึงการทำแปลงไม้ดอกเพื่อจัดการท่องเที่ยว ปัจจุบันได้มีการขึ้นทะเบียนพันธุ์ใหม่และมีการนำไปใช้ประโยชน์แล้วรวม 19 พันธุ์

20200810 5f30d0a4d15ac
พัฒนาพันธุ์ “ปทุมมา” เพิ่มความหลากหลาย

นอกจากการปรับปรุงพันธุ์เพื่อยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้ง 2 หน่วยงานยังได้ร่วมกันสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสำหรับขยายต้นพันธุ์ปลอดโรคที่ได้มาตรฐาน และสนับสนุนการนำองค์ความรู้เรื่องพันธุ์ใหม่และเทคนิคในการเพาะปลูกไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกร เพื่อเป็นช่องทางสร้างรายได้เสริมในช่วงฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาวอีกด้วย

รู้จัก “ปทุมมา” ราชินีแห่งป่าฝน

ปทุมมา เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) สกุลขมิ้น (Curcuma) มีถิ่นกำเนิดแถบอินโดจีน เช่น พม่า ไทย ลาว เขมร คนไทยในภาคเหนือและภาคตะวันนออกเฉียงเหนือรู้จักกันดีในช่วงฤดูฝน ซึ่งพืชในสกุลขมิ้นจะเจริญเติบโตและออกดอกในช่วงฤดูฝน สามารถนำดอกมารับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกและยังเป็นพืชสมุนไพร

พระยาวินิจวนันดร นักธรรมชาติวิทยาที่มีชื่อเสียงของไทย ได้พบความงามของดอกไม้พื้นเมืองในสกุลขมิ้นจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “กระเจียวบัว” จึงได้นำดอกไม้พื้นเมืองนี้ถวายแด่พระวินัยโกศล แห่งวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ปทุมมาท่าน้อง” และ “บัวสวรรค์” และเป็นชื่อ “ปทุมมา” ในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2510 ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร ได้นำดอกไม้สกุลขมิ้นปลูกในพื้นที่วิจัยของโครงการหลวง บริเวณห้วยทุ่งจ๊อ และในปี พ.ศ. 2528 ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริได้นำพืชสกุลขมิ้น ซึ่งทางเหนือเรียกว่า กลุ่มดอกอาว มาพัฒนาเป็นไม้ดอกเชิงเศรษฐกิจ โดยนำปทุมมาซึ่งเป็นไม้ดอกมีช่อคล้ายดอกบัวที่ได้จากการคัดเลือกพันธุ์ ขยายพันธุ์ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จนได้รับความนิยมและเรียกชื่อกันต่อมาว่า “ปทุมมาพันธุ์เชียงใหม่”

เมื่อปริมาณการผลิต”ปทุมมา” สูงขึ้น ชาวต่างประเทศได้พบความงามของปทุมมา เกษตรกรไทยจึงเริ่มต้นส่งออก “ปทุมมา” ไปต่างประเทศในปี พ.ศ. 2528 โดย คุณอุดร คำหอมหวาน เป็นผู้นำสำคัญ ซึ่งเริ่มจากการตัดดอกจากสวนริมถนน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ส่งประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อว่า “สยามทิวลิป” (Siamese tulip) และนับแต่นั้นมา “ปทุมมา” ได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2547 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เล็งเห็นความสำคัญในการคุ้มครองพันธุ์ปทุมมา จึงได้ประกาศให้พืชสกุลขมิ้นซึ่งรวมถึงปทุมมาเป็นพืชคุ้มครอง โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542

ตัวอย่างพันธุ์เด่นที่ได้จากการพัฒนา คือ ปทุมมาพันธุ์ “ห้วยสำราญ” ที่สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้นำองค์ความรู้และเทคนิคการเพาะปลูกไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรชุมชนกลุ่มแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับห้วยสำราญ-ห้วยเจริญ จ.อุดรธานี เพื่อร่วมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เกิดเป็นแหล่งสร้างรายได้เสริมใหม่ให้แก่คนในชุมชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จะเห็นได้ว่า “ปทุมมา” จากสมุนไพร พืชอาหารในระดับท้องถิ่น สู่ไม้ตัดดอก ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี ไม้กระถาง ไม้ประดับแปลง ที่นิยมปลูกประดับ จัดตกแต่งภูมิทัศน์ ด้วยรูปร่างของช่อดอกที่เป็นเอกลักษณ์ สีสันที่หลากหลายของใบประดับในแต่ละ “พันธุ์ปทุมมา”

“ปทุมมา” มีแหล่งผลิตที่สำคัญคือ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และจังหวัดเลย ปัจจุบัน ปทุมมา ได้รับความสนใจมากขึ้น ผู้คนรู้จักและนิยมมากขึ้น