อนุทิน เซ็นประกาศ สธ. “กัญชา” เป็น”สมุนไพรควบคุม” ห้ามเสพที่สาธารณะ ห้ามจำหน่ายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงคนมีครรภ์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.๒๕๖๕ โดยประกาศดังกล่าวมีเนื้อหาใจความว่า

โดยที่พิจารณาเห็นว่า “กัญชา” เป็นสมุนไพรที่มีค่าต่อการศึกษาหรือวิจัย มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ มาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ (๓) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.๒๕๔๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย จึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้กัญชา หรือสารสกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็น “สมุนไพรควบคุม”

ข้อ ๒ อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ยี่สิบปีขึ้นไปสามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษาขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามข้อ ๑ ได้ ยกเว้นการกระทำดังต่อไปนี้

(๑) การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ

(๒) การใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตร์ให้นมบุตร

(๓) การจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร

lhS0LC8bbvVnzMD1LD1E
ประกาศ สธ.ให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม

ข้อ ๓ อนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีนและหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากสมุนไพรควบคุมตามข้อ ๑ ให้กับผู้ป่วยของตน ในปริมาณที่จ่ายให้สำหรับการใช้ประโยชน์เป็นเวลาสามสิบวัน

ข้อ ๔ อนุญาตให้ผู้ป่วยตามข้อ ๓ สามารถครอบครอง ขนย้าย ดูแล เก็บรักษา ใช้ประโยชน์

ข้อ ๕ ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕

(นายอนุทิน ชาญวีรกูล)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ก่อนหน้านี้ กรุงเทพมหานคร ได้ออกประกาศ เรื่องการเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจาก“การใช้กัญชา”หรือ “กัญชง” ในนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 9 ข้อดังนี้

1.ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ “ปลอดกัญชาหรือกัญชง”

2.งดจำหน่ายอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชง ภายในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

3.ห้ามโฆษณาอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงภายในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

4.ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ภายในโรงเรียนสังกัด กรุงเทพมหานคร ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างแก่นักเรียนและกวดขัน ดูแลนักเรียนมิให้มีการบริโภคกัญชาหรือกัญชง

5.ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร มุ่งเน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ กัญชาหรือกัญชงและอันตรายจากกัญชาหรือกัญชงแก่นักเรียนด้วยการบูรณาการเข้ากับกลุ่มสาระการเรียนรู้ และกิจกรรมต่าง ๆ ในการเรียนการสอนทุกระดับ

6.ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครมีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย และจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมนักเรียนตามความถนัดหรือความสนใจ โดยสอดแทรกและเน้นย้ำเรื่องพิษภัยของกัญชาหรือกัญชง

7.ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ประชาสัมพันธ์ เรื่องโทษของการใช้กัญชาหรือกัญชงที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของนักเรียน

8.ประสานความร่วมมือ แจ้งนโยบายการเฝ้าระวังปัญหาฯ แก่ผู้ปกครองชุมชน รวมถึง ผู้ประกอบการร้านค้ารอบโรงเรียน เฝ้าระวังไม่ให้มีการจำหน่าย อาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชง

9.ให้ผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครประสานความร่วมมือกับสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักการศึกษา และสำนักงานเขตเพื่อบูรณาการการป้องกันและเฝ้าระวัง ปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิด